top of page

10 ข้อคิด จาก 10 สัปดาห์ฝึกงาน


[หมายเหตุ: โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ทาง dash.minimore.com/b/WWFr4/4]


หลังจากที่แปลงานให้นิตยสารแฟชั่นแห่งหนึ่งมาเป็นเวลาปีกว่า ๆ ตอนเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้ตัดสินใจส่งเมลไปยังพี่รองบรรณาธิการที่รู้จักกันเพื่อขอฝึกงาน แน่นอนว่าต้องผ่านความใจแป๋วกันตามระเบียบเสียก่อน เพราะมีเจ้าโควิดตัวร้ายมาคั่นตรงกลางระหว่างฉันและการฝึกงานไว้ แต่เมื่อบริษัทฯ เปิดสำนักงานให้กลับไปทำงานได้อีกครั้ง ผมจึงได้รับโอกาสให้ไปฝึกงานในกองบรรณาธิการเป็นเวลา 10 สัปดาห์เต็มพอดิบพอดี - และเพิ่งจบการฝึกงานในวันนี้


สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ 10 ข้อคิดที่ผมได้เรียน 'รู้' จากการฝึกงานครั้งนี้


1) รู้จักสถานะของตัวเอง

ในฐานะนิสิตฝึกงาน (ที่เกือบเด็กที่สุดในออฟฟิศ เพราะยังมีนักศึกษาฝึกงานผู้ซึ่งเพิ่งอยู่ปีหนึ่งมาฝึกในแผนกอื่น) ความเกรงใจเป็นคติหลักของผม (ที่จริงก็ในชีวิตประจำวันเลยด้วยซ้ำไป) เวลาพี่ ๆ มีอะไรให้ทำหรือให้ลองทำ ผมก็ตอบว่า “ได้ครับพี่” แล้วลองคลำทางค่อย ๆ เรียนรู้งานต่าง ๆ แต่จะทำได้ออกมาดีหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องปรับตัวและสมองกันไป


ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและการรู้จักทักทายกับทุกคน – ทั้งคนในกองฯ และแผนกอื่น ๆ – ก็เป็นอีกคติหนึ่งในการทำงานของผม เอาเข้าจริง ผมก็ไม่ได้สนทนากับใครมากนัก เนื่องจากทุกคนก็มีงานของตัวเอง อาจมีพูดเล่นหรือแซวพี่ ๆ บางคนในวัยใกล้กันได้บ้างตามสมควร แต่บางครั้งก็ต้องรู้จักการพูดตามตรงและการโต้แย้งอย่างมีเหตุผลในการทำงานด้วยเช่นกัน


2) รู้จักรับฟังทุกสิ่ง สังเกตทุกอย่าง

          เผลอ ๆ ความรู้ที่ได้จากการฝึกงานครั้งนี้นั้นมาจาก ‘การฟัง’ เป็นส่วนใหญ่ นอกจากการแปลข่าว แปล-เขียนบทความที่ทำให้ผม ‘รู้เรื่อง’ แฟชั่นมากขึ้นจากกาลก่อนหน้าแล้ว การฟังพี่ ๆ แผนกต่าง ๆ คุยกัน -  ทั้งกองฯ ฝ่ายขาย กราฟิก บัญชี โปรดักชั่น – ก็ทำให้รู้เรื่องภายในและนอกบ้านมากขึ้น ได้ฟังทัศนคติในการทำงานของพี่ ๆ หลายคนว่าเขาคิดอะไร แก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งช่วยผมปรับตัวได้ในอีกทางหนึ่งเหมือนกันอีกทั้งการมาทำงานในบริษัทฯ ทำให้ผมตระหนักถึงข้อหนึ่งว่า แบรนด์ต่าง ๆ โลกของสื่อ และวงการบันเทิงในปัจจุบันนั้นเกี่ยวโยงและพึ่งพากันมากกว่าที่คิด


3) รู้ภาษาดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

          ภาษาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงภาษาสื่อสารต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงภาษาในวงการต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ภาษาสื่อสารเป็นตัวกลางสู่เรื่องราวต่าง ๆ แต่ภาษาเฉพาะในวงการจะทำให้เข้าถึงและเข้าในใจความเป็นมากับความเป็นไปของโลกใบนั้นอย่างถ่องแท้ สุดท้ายแล้วนักเขียนก็ต้องแปลภาษาเหล่านี้ให้ได้ดี ไม่ใช่แค่เพื่อให้ผู้อ่านรับรู้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แต่ – ในกรณีนี้ – เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวแฟชั่นค่านิยมของแบรนด์ต่าง ๆ ที่มาเป็นลูกค้าโฆษณา และตัวตนของศิลปินดาราได้ตามขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย


4) รู้ [ไว้ใช่] ว่า โลกของการทำงานนั้นกว้างใหญ่แกมหฤโหดกว่าโลกในรั้วสถาบันการศึกษาเป็นไหนๆ

          แม้จะเคยได้ยินกิตติศัพท์ว่า โลกของการทำงานมีความหลากหลายและภาระรับผิดชอบอย่างสูง แต่ก็ไม่อาจเทียบเท่าได้กับการมา ‘สัมผัสด้วยตัวเอง’ จริง ๆ ยอมรับว่า บางช่วงบางตอนของการฝึกงานจะเรื่อยเปื่อย - ถึงขั้นที่ว่ามีช่วงหนึ่งนั่งดูซีรีส์ได้หนึ่งซีซั่นถ้วน แต่พอได้พบกับงานรูปแบบต่างๆ - ทั้งงานแปล งานสัมภาษณ์ งานเขียนข่าว งานออกกอง - ที่ถาโถมเข้ามาโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ ก็คิดได้ว่า “นี่แหละ ของจริง” ยังไงก็ตาม ไม่ว่าจะงานหนักจะเบา ผมก็รับเอามาสู้ทั้งหมด การฝึกงานได้เปิดโลกแฟชั่นของผมอย่างมหาศาล ได้พบเจอกับผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคน และทำให้ผมตระหนักว่ายังมีอะไรที่รอให้เราสัมผัสอีกเยอะจริง ๆ


          แต่สิ่งที่ไม่คิดว่าจะเตรียมใจได้เจอเลยก็คือ การมีโอกาสฟังสัมภาษณ์สมัครงานตำแหน่งหนึ่งของบริษัท เรื่องคือว่า มีอยู่สัปดาห์หนึ่งที่ผมต้องไปนั่งที่ห้องประชุมเล็กคนเดียวเพราะในกองฯ ที่นั่งเต็ม แล้ววันหนึ่ง ก็มีการสัมภาษณ์งานเกิดขึ้นในห้องที่ผมนั่งอยู่ ตอนแรกผมว่าจะออกไปทำงานตรงอื่น แต่พี่เขาบอกไม่ต้องหรอก นั่งฟังด้วยกันเนี่ยแหละ ผมนั่งอยู่ในนั้นด้วยความเกร็งไปหมดทั้งตัว เพราะในขณะที่เรานั่งพิมพ์งานอยู่ คือเวลาเดียวกับที่ชะตาชีวิตของคนที่มาสมัครงานอาจเปลี่ยนไปตลอดกาลเลยก็ได้ พี่ ๆ ของบริษัทก็ใส่คำถามจริงจัง ไม่มีอ่อนข้อ เพื่อดูไหวพริบของผู้สมัครงานว่าจะ ‘เอาอยู่’ ไหม (ตำแหน่งงานที่ว่าต้องรับมือกับบุคคลภายนอกมากทีเดียว)


ผู้สมัครบางคนลาออกจากบริษัทเดิมเพื่อมาเสี่ยงหางานใหม่ในยามนี้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้อได้เปรียบแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่วัดกันว่าใครจะได้รับการจ้างงานคือ ความประทับใจและการตอบคำถามต่อพี่ ๆ ของบริษัท ณ ตอนนั้น วัดกันว่าใครเตรียมตัวและทำการบ้านก่อนมาสมัครงานแล้วผมก็ได้เห็นว่า ใครที่ได้รับโอกาส และใครที่ต้องพลาดหวังไปในการสัมภาษณ์สั้น ๆ เพียงไม่กี่นาที 


หนักหนาสาหัส... แต่จริงยิ่งกว่าจริง


5) รู้ [ไว้ใช่] ว่า การเปลี่ยนงานบ่อย ๆ ก็อาจไม่ใช่เรื่องดีในประวัติการทำงาน

          สืบเนื่องจากข้อข้างบนว่าตามตรง ผมเห็นใจผู้ที่กล้าลาออกจากงานประจำเดิมเพื่อเสี่ยงสมัครงาน ณ บริษัทแห่งใหม่ - โดยเฉพาะในยามนี้ที่องค์กรต่าง ๆ มีแต่จะลดคนออกไป แต่การเปลี่ยนบริษัทบ่อย ๆ ไม่ได้ทำให้ประวัติการทำงานดูดีเลย ยิ่งถ้าอ้างเหตุผลว่า ‘เดินทางลำบาก’ ‘เหนื่อย’ จากงานเก่า ก็เป็นการปิดตายโอกาสครั้งใหม่ไปแล้วเรียบร้อย ทั้งนี้ ก็ต้องคิดในฐานะบริษัทผู้จ้างเช่นกันว่า การรับพนักงานใหม่ที่มีประวัติเช่นนี้ก็รับประกันไม่ได้เลยว่า คน ๆ นั้นจะอยู่กับบริษัทได้นาน สู้ให้ฝึกคนที่ไม่มีประสบการณ์เลยยังจะง่ายกว่าเสียด้วยซ้ำไป

แต่ว่ากันตรง ๆ ปัจจัยที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งอยู่กับองค์กรได้งาน ไม่ได้มีเพียงเพราะตัวงาน ความชอบหรือประสบการณ์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรและคนที่อยู่ภายในนั้นเกี่ยวข้องด้วย


6) รู้จักการแยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวให้ได้มากที่สุด

          แน่นอนว่า ในการทำงานก็ต้องมีการพบเจอคนที่อาจถูกชะตากันหรือไม่ชอบหน้ากันไปเลย อันจะนำพาไปสู่ความทนไม่ได้และมีฝ่ายใดหนึ่งที่ออกจากงานในท้ายที่สุด แต่ตราบใดที่เก็บความชอบไม่ชอบไว้ชั่วคราวและเห็นแก่ประโยชน์ของงานเป็นสำคัญที่สุด ก็ต้องอดทนกันไป สื่อสารกันเท่าที่จำเป็น เสร็จงานแล้วต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปทำงานของตัวเอง... จนกว่าจะมีงานให้ทำร่วมกันใหม่


7) รู้จักลดอุดมการณ์ลงบ้าง

          ที่นี่ การเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งที่ดีในการทำงาน แต่การเอาใจลูกค้าโฆษณาก็ขาดไม่ได้เช่นกัน ไม่อย่างนั้นเงินเดือนของพนักงานจะมาจากที่ไหนกัน มีพี่คนหนึ่งบอกกับผมไว้ว่า “อุดมการณ์ของเราให้มันอยู่สัก 70% ส่วนอีก 30% ที่เหลือก็ตามใจลูกค้าไป” เรื่องสัดส่วนดังกล่าว ผมเชื่อว่าก็แตกต่างกันไปในแต่ละที่แต่ละบริษัท “แต่ยังไงก็ตาม จรรยาบรรณก็ต้องอยู่ที่ 100% ตลอด อะไรที่มันไม่ได้และไม่ควรจริง ๆ ก็ไม่ต้องทำ” พี่คนนั้นพูดต่อและผมก็เห็นด้วยอย่างมาก ยิ่งในยุคที่สื่อถูกท้าทายอย่างหนักแล้ว ความซื่อสัตย์และการคัดกรองในเนื้อหาที่ทำอยู่นั้น ก็ทำให้คนและสื่อนั้น ๆ มีความเชื่อถือได้ในสายตาของทุกคน


8) รู้จักหางานที่ไม่ต้องใช้สมองทำเสียบ้าง

          มีอยู่วันหนึ่งที่ผมนั่งอยู่คนเดียว แล้วพี่ประสานงานคนหนึ่งมาดึงกระดาษที่แปะตรงประตูออกไปอย่างสบายอารมณ์ ผมอาสาว่าจะดึงกระดาษออกให้เอง แต่พี่คนนั้นบอกว่า “ไม่ต้องหรอกน้อง พี่ต้องหางานที่ไม่ต้องใช้สมองทำบ้าง” ผมฟังแล้วก็ ‘เออ... จริงวะ’ บางครั้งคนเราก็ต้องหาอะไรที่ไม่ต้องใช้หัวคิด และพักสมองระหว่างการทำงาน ไปเข้าห้องน้ำ เล่นไลน์ หรือแม้กระทั่งสูบบุหรี่ (แต่ผมไม่สูบนะ) เสียบ้างไม่อย่างนั้นคงจะตึงเครียดกันเกินไป ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกลับมาส่งผลเสียต่องานที่ทำ


9) รู้ว่าจุดแข็งของตัวเองคืออะไร

           ‘กูไม่ได้มีใจให้แฟชั่นขนาดนั้น แล้วกูจะอยู่ได้ยังไงวะ' คือประโยคที่ทำให้ผมตัดสินใจขอฝึกงานเป็นนักเขียนของที่นี่ ผมอยากเปิดโลกใหม่ ๆ ที่ไม่เคยสำรวจและมีความเคยชินมาก่อน อีกทั้งก็มีผู้ใหญ่ที่รู้จักอยู่ในนั้นแล้ว ลองดูสักครั้งก็ไม่เสียหายและดีกว่านอนอยู่บ้านเฉย ๆ เป็นไหน ๆ


          อย่างที่บอกว่า การฝึกงานได้เปิดโลกแฟชั่นของผมมหาศาล (แม้ว่านั่นจะเป็นเพียงเสี้ยวเดียวจากทั้งหมด) และได้ทำให้ผมใช้ทักษะที่ได้ร่ำเรียนมา - ทั้งการเรียบเรียงข้อมูล การเขียน การแปล ฯลฯ - มาเข้าใจและเรียนรู้วงการแฟชั่นและแบรนด์ต่างๆ มากขึ้น กระนั้นเอง จากเวลา 10 สัปดาห์ก็ทำให้ผมได้รู้ว่า ‘แฟชั่นไม่ใช่จุดแข็งของตัวเองจริงๆ’ แต่ก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ในการรับข่าวสารในวงการนี้แต่อย่างใด รู้แนวคิดหลักไว้ก็เป็นเรื่องดี


          ผมพูดเรื่องนี้กับพี่รองบ.ก. เขาบอกผมว่า “แฟชั่นไม่ใช่จุดแข็งของเราไม่เป็นไร พี่เองก็ไม่ได้ตามแฟชั่นขนาดนั้นเหมือนกัน แต่เราต้องมี ‘จุดแข็ง’ บางอย่างที่จะอยู่ที่นี่หรือที่ไหน ๆ อย่างพี่เองพี่รู้จักคนเยอะ พี่สามารถดึง (ศิลปินและดารา) ตัวใหญ่ ๆ มาได้ แล้วพี่ก็มีหน้าที่ใส่สมองให้หนังสือของเรา นี่คือจุดแข็งของพี่” แม้ผมจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจุดแข็งของตัวเองนั้นคือเรื่องใดกันแน่ ‘อาจจะเป็นเรื่องทักษะที่ทำได้ทุกอย่าง? ชอบเล่าเรื่องราว? หรืออะไรอื่น ๆ ไม่แน่ใจ...’ แต่ในเส้นทางอีกยาวไกลผมคงจะหาจุดแข็งนั้นเจอในสักวันหนึ่ง


          แต่มีจุดแข็งอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จักการเป็นเป็ดด้วย จากการเรียนรู้ของผม นิยามของเป็ดในยุคนี้คือ ทักษะต่างๆ ในโลกดิจิตอล - ทั้งตัดต่อคลิป เลย์เอาท์งาน ทำเว็บไซต์ ใช้สังคมออนไลน์ให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ - แต่บอกตามตรง การ ‘ทำเป็น’ ทุกอย่างก็เหนื่อยมากจริง ๆ คือถ้าทำเป็นได้ทุกอย่างก็ดี แต่หากไม่ใช่และไม่ได้มีเวลาทำทุกอย่างได้ครบวงจรขนาดนั้น แค่ ‘ทำได้’ คร่าว ๆ ระดับหนึ่งให้คุยกับผู้อื่นได้ก็ยังดี


10) รู้จักและยอมรับตัวเองให้ได้ว่า ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่ทำอยู่

          ตลอดเวลา 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เห็นคนมากมายในบริษัทหมุนเวียนเข้าออก ซึ่งมีพี่ ๆ บางคนที่ออกไปเนื่องจากงานที่ทำไม่ตอบโจทย์เขา ผมว่าต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากทีเดียวในการยอมรับกับตัวเองว่า ‘สิ่งที่ทำอยู่นั้นมันไม่ใช่’ แล้วเลือกเดินต่อในเส้นทางสายอื่นที่ตรงกับเขา


          เช่นกัน ผมยังได้เห็นพี่ ๆ หลายคนที่ยังคงทำงานกับสื่อนิตยสารนี้ด้วย ‘ความรัก’ ในมนต์เสน่ห์ของหนังสือจริง ๆ ความภาคภูมิใจในหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าเกิดจากการทุ่มเทเวลา ความปวดกะโหลก และการข้องเกี่ยวกับผู้คนมากหน้าหลายตา


ผมเองก็สัมผัสได้ถึงความพิเศษดังกล่าวเหมือนกัน เวลาที่ได้เห็นผลงานของตัวเองตีพิมพ์ในนิตยสารจนรู้สึกดีขึ้นมา จากนั้นก็กลับมาทำงานต่อ เป็นอย่างนี้วนไปเรื่อย ๆ


ผมชอบงานนี้อยู่เหมือนกันนะ แต่...


ผมคิดว่าผมยังอยากลองทำอย่างอื่นอยากลองทำในสิ่งที่ใฝ่ฝันไว้มาเนิ่นนาน “อย่าเพิ่งรีบปักธงในชีวิต” มีพี่คนหนึ่งบอกผม ซึ่งนั้นก็เป็นความจริง แต่การรีบหาลู่ทางต่าง ๆ ในชีวิตตัวเองเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้นก็เป็นเรื่องที่ดียิ่งกว่า จะได้รู้ไว้ว่า ตัวเรานั้นมีความชอบและสามารถทำงานในลู่ทางนั้น ๆ ได้หรือไม่ อย่างไรเสีย ผมก็จะไม่ทิ้งเส้นทางสายนักเขียนนี้ไปแน่นอน ส่วนจะได้ทำมากหรือน้อยนั้น ก็ให้เวลาและจังหวะชีวิตดำเนินไปตามวิถี

ข้อคิดทั้งหมดนี้จะเป็นจริงหรือทำให้ทุกท่านเห็นด้วยได้มากน้อยเพียงใด ผมก็ยินดีรับความคิดเห็นและเสียงของทุกท่านไว้ครับ เพราะผมเชื่อว่า ประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันไป ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ ที่สำคัญที่สุด ขอขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนและบริษัทฯ ที่ให้โอกาสผมได้มาฝึกงานและได้รับข้อคิดจากโลกการทำงานของจริง หากมีสิ่งใดที่ทำผิดพลาดไปขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ


ขอขอบคุณจากใจจริงครับ

bottom of page