[หมายเหตุ: โพสต์ต้นฉบับ https://dash.minimore.com/b/frncU/4 - 08/12/2020]
สวัสดีครับ
.
นี่ก็เป็นเวลาหลายเดือนเหมือนกันที่เราไม่ได้ผลิตคอนเทนต์ออกมา (เพราะไปผลิตงานให้พี่ ๆ ที่ออฟฟิศกับเอาเวลามานอนเก็บแรงนั่นเอง) พอความเดือดของไฟนอลเพิ่งจะมอดไป เลยมาแบ่งปันประสบการณ์ทางการศึกษาตามธรรมเนียมครับ
.
หลังจากที่เราผ่านความชิวมาสองปีเต็ม เรียนบ้าง ทำงานบ้าง และดูหนังเยอะมาก กล้าพูดได้เลยว่า ปี 3 เทอม 1 คือเทอมที่เปลี่ยนโหมดแทบหงายท้อง แม้ระดับความเหนื่อยของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับ nature ของเอก กับ วิชาอื่น ๆ ที่เลือกลงกันตามความประสงค์ แต่สุดท้ายแล้ว มันเลเวลอัพกันถ้วนหน้าจริง ๆ (แต่ถ้าสตาร์ทอัพนั่นเป็นซีรีส์เกาหลีที่ฮิต ๆ...)
และต่อไปนี้ คือวิชาอักษรฯ ของเราในเทอมนี้
*การรีวิวไม่เรียงลำดับตามความชอบของผู้เขียน และเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น
**เนื้อหาและลักษณะการเรียนการสอนของแต่ละวิชาอาจเปลี่ยนแปลงได้ในเทอมถัด ๆ ไป
1) 2233011 Spanish I
เซค 3 กับอ.สถาพร (เซค Gen-Lang) ทุกวันพุธ 13.00-16.00 / คอนเวอร์ฯ กับอ.Mario กลุ่ม 1 ทุกวันจันทร์ 16.00-18.00
เนื้อหาและรูปแบบการเรียน
-ไวยากรณ์: ตั้งแต่อ่านตัวอักษร, กระจาย verbo ต่าง ๆ ตามประธานและ tiempo [presente และ futuro] พ่วง artículos, adjetivos, pronombres, adverbios พื้นฐาน
-ศัพท์หลากตีม [กีฬา, อาหาร, บ้าน, ของใช้, เสื้อผ้า, นิสัยใจคอ, ฯลฯ] พ่วงด้วย pistas และ lecturas
-การเรียนกับอาจารย์ฝรั่ง: ฝึกสนทนาเรื่องที่เรียนมาทั้งหมดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
การเก็บคะแนน
-พาร์ทอ.ไทย 65% [กลางภาค + ปลายภาค + quiz ในคาบ] และพาร์ทอ.ฝรั่ง 35% [proyecto กลางภาค 10 + สอบพูดปลายภาค 20 + เข้าคลาส 5] / ตัด A ที่ 85
วิชาภาษาต่างประเทศสุดฮอตอีกตัวนึงของคณะฯ ที่ทุกคนต่างแย่งชิง โดยเฉพาะเซค 3 นี้ที่เป็นเซคเจนแลง เลยงงปนดีใจมากที่ลงติด (สักที) ส่วนการเรียน เราเจออ.สถาพร ผู้มีประโยคเด็ด ๆ ทำนองว่า ‘ถ้าง่วงก็เดินไปเข้าห้องน้ำ เอาน้ำลูบหลังตานะครับ’ ‘มันหนักมากเลยนะคุณ เนื้อหามันอัดกัน ๆ’ ‘ผมล่ะสงสารพวกคุณจริง ๆ นะ’ และ ‘ถ้าไม่ไหวก็ถอนนะครับ’ ซึ่งเป็นความจริงหมดเลย - -” คือการสอนตั้งแต่พื้นฐานไม่ใช่ปัญหาอะไรหรอก แต่ปัญหาอยู่ที่การอัดเนื้อหามหาศาลไว้ในหนึ่งเทอมเนี่ยแหละ ถ้าใครไม่มีเวลาทวนเรื่อย ๆ คือหัวแตกแน่ ๆ ช่วงสอบ โชดคีที่เราเรียนภ.ฝรั่งเศสมา เลยพึ่งใบบุญเรื่องคำศัพท์ การผันกริยา-เพศ-พจน์ ฯลฯ ได้บ้าง ส่วนตัวอาจารย์ คือ อ.สถาพรคือ เขาน่ารักนะ เป็นดั่งพ่อ เรื่อง quiz ก็พยายามช่วย ๆ นิสิต แต่เขาสอนเร็วและข้าม pista/track (อันนี้ข้ามเฮี้ยนเลย) หรือแบบฝึกหัดที่น่าจะทำด้วยกันในห้อง บวกกับ เนื้อหาบางส่วนที่พอเวลาไปถามเขาเพิ่ม ก็ยังไม่เคลียร์เหมือนเดิม เลยตะหงิด ๆ ใจไม่น้อย
ส่วนคาบคอนเวอร์กับอ.ฝรั่ง เราเรียนกับอ.Mario, mi hermano mayor เขาหล่อและน่ารักมากกกกกกกกกกกกก มีไรถามก็อธิบายเคลียร์ หรือถ้าตอบอะไรไม่ได้/พูดผิด มาริโอก็แก้ให้ แต่พอมาครึ่งเทอมหลัง มาริโอเพิ่มโหมด hablar espanol มากขึ้น จนบางทีก็ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง (คงเห็นว่านิสิตเรียนกันมาครึ่งเทอม น่าจะพอพูดกันได้ ซึ่งไม่จริง) ส่วนเรื่องการทำ proyecto หรือพูดต่อหน้าเขาตอนไฟนอล มาริโอก็ดูจะช่วยดันเต็มที่ให้คะแนนดี ๆ กัน โดยรวมแล้ว สเปน 1 ก็หนักหนาเอาเรื่องเลยทีเดียว ดีที่อาจารย์ค่อนข้างช่วย
ปล. (ทุก) เทอม 2 จะมีวิชา Spainsh Communication ที่ง่ายกว่าสเปน 1 (จากคำบอกเล่าของอาจารย์และเพื่อน ๆ) ไว้เป็นทางเลือกสำหรับการเก็บเจนแลงสเปนครับ
2) 2202201 ACAD: Academic English Oral Skills
เซค 2 กับอ. Shane ทุกวันจันทร์และพุธ 11.00-12.30
เนื้อหาและรูปแบบการเรียน
-ครึ่งเทอมแรก: intro หลักการพรีเซนต์ พ่วงแบบฝึกหัดทั้งเดี่ยวและกลุ่ม, หลักการ summary พร้อมฝึกกับเก็บคะแนน, พรีเซนต์กลุ่ม
-ครึ่งเทอมหลัง: หลักการทำ transcription พร้อมฝึกกับเก็บคะแนน, พรีเซนต์เดี่ยว
การเก็บคะแนน
-เข้าคลาส/มีส่วนร่วม + summary 3 เรื่อง + transcription 3 เรื่อง + พรีเซนต์กลุ่ม 1 + พรีเซนต์เดี่ยว 2
ตอนที่ได้ยิน feedback จากเพื่อน ๆ ที่เรียนตอนปี 2 ก็ฟังดูมันยากจังวะ เลยไปลง eng conver ที่ง่ายกว่า แต่พอเทอมนี้โดนไฟล์ทบังคับให้ลง (ไม่งั้นเก็บโทไม่ทัน) ก็เลยต้องโดนเข้าให้ พอได้เรียนจริง มันชิวกว่าที่คิดมาก ๆ นะ คืออาจเป็นเพราะความชิวของอ. Shane ด้วย (เป็นส่วนใหญ่) และด้วยความที่มันสอบ/พรีเซนต์จบในคาบ ไม่มีภาระคาราคาซังเหมือนตัวอื่น ๆ ที่เราเรียนในเทอมนี้ กระนั้นก็ดี ช่วงที่ต้องเสียเวลามากที่สุด ก็คือการเตรียมพรีเซนต์ทั้งเดี่ยวทั้งกลุ่ม ที่ต้องคิดหัวข้อ คิดบท ทำ handout หรือทำสไลด์สำหรับการพรีเซนต์เดี่ยวรอบที่สอง เพราะฉะนั้นการทุ่นเวลาของเราคือ… เอาเรื่องที่พรีเซนต์ในวิชาอื่นมาใช้ (!) แล้วมาปรับมาเพิ่มเนื้อหาให้มันไม่น่าเกลียดหน่อย เป็นอันเสร็จสิ้น ส่วนเรื่อง summary กับ transcription เนี่ย ไอ้ตอนฝึกก็ว่าโอ(เค)อยู่นะ บางครั้งยากหน่อยแต่ยังมั่นได้อยู่ แต่ทำไมตอนสอบ อาจารย์เขาทำให้เราไม่มั่นใจในสิ่งที่เขียนกันได้ล่ะนะ 5555 ก็ต้องรอดูเกรดกันว่าจะได้ขนาดไหนกัน
3) 2231358 Oral French
กับอ.Sophie ทุกวันจันทร์ 13.00-16.00 [อัพเดท - ตอนนี้น่าจะเป็น Franz ที่มาสอนแทนแล้ว]
เนื้อหาและรูปแบบการเรียน
-สนทนา ดีเบต หรือฟัง track ในตีม เมืองแห่งอนาคต, เทคโนโลยี, ความเรียบง่ายในชีวิต (simplicite volontaire), ฯลฯ
-การทำและนำเสนอ plan & presentation dialectique
-การใช้คำเชื่อมต่าง ๆ ในการสนทนา
-นำเสนอข่าวที่น่าสนใจในแต่ละสัปดาห์ (เป็นคลิปหรือหน้าห้อง ก็ตามสัปดาห์ที่เรียน)
-เรียนผ่าน Zoom + Microsoft Teams (เพิ่งรู้ว่ามีประโยชน์มาก แต่ช่วงแรกใช้ยากชิบเป๋ง)
การเก็บคะแนน
-participation ในคลาส + ทำพรีเซนต์ข่าวคนละ 4 เรื่องตลอดเทอม (จับคู่) + แบบฝึกหัด plan dialectique + แบบฝึกหัดจับใจความและอื่น ๆ + final ทำ presentation dialectique หน้าชั้นเรียน + ไม่มี midterm เพราะโซฟีหยุดให้ [*กราบแม่*]
เอ่อ สารภาพเลยว่า นี่เป็นวิชาที่ไม่รู้ว่าจะรีวิวยังไงดี เพราะตอนเรียนก็แทบจะไม่มีสติเลย ให้ตายเถอะ... คือพอมันเป็นวิชาพูด ที่คาบเรียนส่วนใหญ่มันอยู่ในออนไลน์แล้ว สมาธิก็เตลิดเอาได้ง่าย ๆ เวลาฟังไม่รู้เรื่องก็จะเปิดไฟล์งานอื่นมาทำ (ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ทำไม่ได้อีก) เลยให้รุ่นพี่ที่มาเก็บเป็นโทเขาตอบโต้กับโซฟีล่ะกัน 5555555 เด็กเอกอย่างเราขอถอย อีกอย่างนึงคือ ตีมที่เอามาพูดมันก็พูดกันจนเบื่อแล้ว เลยคิดว่า ถ้าโซฟีหยิบเอาข่าว (หรือประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมที่น่าสนใจ) ที่แต่ละคู่ต้องทำประจำวีคนั้น ๆ มาคุยกัน แล้วให้มันไหลไปเรื่อย ๆ ภายใต้กรอบเวลา แล้วก็ค่อยสอนอย่างอื่นไป มันก็น่าจะสนุกต่อคนเรียนและคนสอนและสมกับเป็นวิชา oral มากกว่านี้ โชคดีที่วิชานี้โซฟีเป็นคนสอน ต่อให้อาจารย์จะพูดติดสปีดจนตามกันไม่ทัน หรือสั่งงานไม่เคลียร์ โซฟีก็ยังซอฟท์มาก ๆๆ อยู่ดี ไม่ต่อว่าอะไรกับเด็กมากนัก ใด ๆ ในโลกหล้า วิชานี้มันควรจะ amusant ได้อีก และเชิญชวนให้เด็กได้พูดเยอะกว่านี้
4) 2231370 French Visual Arts
กับอ.พิริยะดิศ ทุกวันพฤหัสฯ 14.30-17.30
เนื้อหาและรูปแบบการเรียน
-เรียนวิวัฒนาการของทัศนศิลป์ฝรั่งเศส (จิตรกรรม/ประติมากรรม/สถาปัตฯ) ตั้งแต่ยุค Moyen Age จนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
การเก็บคะแนน
-ไม่มีกลางภาคและปลายภาค
-แต่ มี compo เก็บคะแนน 4 ครั้งตลอดเทอม + หลังไฟนอล exposé เกี่ยวกับศิลปะฝรั่งเศสหลังยุค 1980 ในเรื่องใด ๆ ก็ได้ (เลือกวันพรีเซนต์ได้ + นำเสนอออนไลน์)
แม้รายละเอียดของวิชานี้จะดูช่างน้อยนิด แต่เนื้อหาจริง ๆ คือ สไลด์รวมกันเกือบพันหน้า ซึ่งมีชื่อบุคคล courant artistique และชื่อผลงาน/สถานที่ อีกประมาณล้านห้า จึงเป็นวิชาเลเวลอัพของเอกจากอ.พ่อ พรยด. ในที่สุด ส่วนหัวข้อโจทย์ compo เก็บคะแนนแต่ละรอบนั้น ก็ดูเหมือนง่ายนะ แต่คะแนนที่ออกมาก็ทุบหัวแตกด้านและชินชาไปหมดแล้ว ผู้ที่ทำให้เรามีกำลังใจในการเรียน (และมาทุบนิสิตแหลกลาญในภายหลัง) คือ ตัวอาจารย์พ่อของเหล่านิกรชาวเอกเฟรนซ์นั่นเอง (il faut utiliser les mots les plus propres et supérieurs avec lui. il y a une raison, mais je ne la partage pas.) เรียนแทบทุกครั้งจะมีความปั่น ๆ และเสียงหัวเราะตามสไตล์อาจารย์ เพื่อมาแก้ความหนักหนาของวิชาและการวิเคราะห์ผลงานที่พร้อมโยง (อยางมีเหตุผล) ไปหาเรื่อง ศาสนา[คริสต์], เพศ และ เครื่องเพศ ได้ทุกขณะ
กระนั้น บทเรียนที่ชัดที่สุดจากวิชานี้ ก็คือ เราได้เห็นการสลับขั้วกันตลอดประวัติศาสตร์ศิลป์เฟรนซ์ ทั้งระหว่าง classique vs non-classique เอย หรือ ordre vs desordre เอย [แต่รายละเอียดลึก ๆ ก็ต่างกันในแต่ละยุคสมัย] ซึ่งมันก็ชวนให้คิดเหมือนกันนะว่า เรื่องราวสลับซับซ้อนทั้งหลายบนโลกใบนี้ มันก็มาจากการปะทะกันของสองความคิด สองกระแส ที่พอกางออกมาแล้วถึงจะมีสเปคตรัมแยกไป ไม่ต่างกัน และอีกอย่างนึง คือ แม้การเรียนศิลปะจะไม่ใช้สกิลที่กินได้ (affirmé par le Sacré พรยด. lui-même) แต่มันก็ฝึกให้เรามองเห็นถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นชัด ๆ ในผลงานนั้น ๆ [อย่าง แนวคิดหรือสัญญะที่ศิลปินซ่อนเอาไว้ - โดยเฉพาะเรื่องเพศที่เยอะจนถอนหายใจไปหลายแมตซ์] นำไปสู่ความเข้าใจและความคิดเชิงวิเคราะห์ และทำให้มนุษย์เป็น homme poli ขึ้นในทุก ๆ วัน วิชานี้เลยเป็นวิชาที่เราชอบมากกว่าที่คิดในตอนแรก และทำให้เรามีความรู้ด้านศิลปะแข็งกล้ามากขึ้น (เพราะโดนพ่อทุบจนหัวชามาแล้วนั่นเอง)
5) 2231360 French Literature
กับอ. วรุณี ทุกวันอังคาร 9.30-12.30
เนื้อหาและรูปแบบการเรียน
-เรียนวรรณกรรมฝรั่งเศส ทั้งกลอน บทกวี บทละคร งานเขียนแนวชีวประวัติ ฯลฯ ตั้งแต่ยุค Moyen Age จนถึงยุคศตวรรษที่ 20 ผ่าน extrait ผลงานนั้น ๆ รวม 22 เรื่อง
การเก็บคะแนน
-มีสอบกลางภาค + ปลายภาค
-contrôle continu เก็บคะแนน รวม 3 ครั้ง
วิชาคู่ขนานกับ fr visual arts เพราะเรียนไล่ยุคไปแทบจะพร้อม ๆ กัน ส่วนตัวเราชอบเฟรนซ์ลิทที่สุดในเทอมนี้ เพราะ 1) เราได้เรียนเรื่องราวต่าง ๆ หลากหลายแนวและสไตล์การเขียน (ยกเว้นกลอนที่อ่านเองไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ ต้องขออาจารย์อธิบาย) ซึ่งเปิดโลกทัศน์ให้นักเขียนอย่างเราไปอีก 2) พอเป็นเรื่องงานเขียน มันเลย sync กับเราได้ง่ายกว่าทัศนศิลป์ และ 3) เราได้เห็นโหมด ultimate ของอ.วรุณี ที่สอนได้ลึกและละเอียดโคตร ๆ คือก็เคยเห็นสไตล์การสอนของเขามาตั้งแต่ French 3 แล้ว แต่สำหรับวิชาลิทนี่ อ.วรุณีคือเทพสุด แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า บางจุด (เช่น ประวัติผู้แต่ง หรือการวิเคราะห์ตัวบทบางช่วง) เขาก็อธิบายเยอะเกินจำเป็นไป ซึ่งทำให้ pace ช้าไปจนเสียวจะเรียนไม่ทัน อีกทั้ง พออาจารย์อธิบายพร้อมวิเคราะห์มาละเอียดให้เสร็จสรรพแล้ว ฝ่ายนิสิตก็แทบไม่มีโอกาสจะได้คิดตามหรือตีความเองกันก่อนที่อาจารย์จะสักเท่าไหร่ในห้อง แต่ตอนเรียนออนไลน์อาจารย์มีถามเด็กบ้าง เพราะกลัวหลับกันคา Zoom
สำหรับการสอบ ตอนกลางภาคมีการทำแกงหม้อใหญ่ขึ้น เพราะอาจารย์ให้ extrait จากเรื่อง Le Cid (ศตวรรษที่ 16) แต่ไม่บอกว่าจะเอาอันซีนมาออก แล้วถามว่า บทนี้ใครพูด นี่ก็ตอบเลยว่า ต้องเป็นตัวเอกที่ชื่อ Rodrigue แน่ ๆ โมโนล็อกฟุ้ง ๆ พูดเรื่องเกียรติยศชาติชายแบบนี้มีพี่โรดริกคนเดียวเลยฮะ แต่เฉลย เป็นพ่อของนางพูดต่างหากจ้า เกมกันเกือบทั้งคลาส ยังดีที่อาจารย์ให้คะแนนช่วย และตอนปลายภาคไม่มีเหตุการณ์เอาอันซีนมาออกเกิดขึ้นอีก กระนั้นก็ดี หลังจากสอบทั้งกลางภาคและปลายภาค ก็มี contrôle continu เก็บคะแนนตามมาทันที ไม่ยอมมูฟออนกันง่าย ๆ
ส่วนเรื่องที่ชอบที่สุดของเราจากทั้งหมดที่เรียน คือ Huis clos จาก Sartre ที่หลายคนน่าจะรู้จักกับประโยค ‘L’enfer, c’est les autres’ กันดี ที่ชอบเพราะมันเป็นบทละครเข้าใจง่าย แต่แฝงรายละเอียดไว้เยอะมาก ทั้งการตั้งคำถามถึงอิสรภาพของมนุษยชาติ, การมีอยู่ของคนอื่น, การปฏิเสธแนวคิดนรกทางศาสนา หรือดีไซน์คาแรกเตอร์ของตัว Inès ที่เป็น femme masculine เรายังชอบไลน์ ‘On n’attrape pas les idées par les mains (เราใช้มือจับความคิดไม่ได้หรอก)' ของ Inès ซึ่งสะท้อนถึงบริบทบ้านเมืองในหลาย ๆ แห่ง ที่ต่อให้จะมีคนมาจับ-ควบคุมตัวเรา แต่ไม่มีวันมาจับสิ่งที่อยู่ในสมองเราได้หรอก (เว้นแต่จะเป็นอิงซ็อคซะนี่)
6) 2208488 Writing TV
ครึ่งเทอมแรกเรียนกับครูปิ๊ก ครึ่งหลังกับครูสาว ทุกวันอังคาร 12.30-16.00
เนื้อหาและรูปแบบการเรียน
-ลักษณะ รูปแบบ เทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับการเขียนบทละครทีวี (เช่น การเปิดตัวตัวละครในตอนแรก, ขั้นบันไดทางความเข้มข้นของเรื่อง, เทคนิคตัดต่อ)
-การทำพล็อต + conceptual design เสนอช่อง, การทำ treatment
-พาร์ทครูปิ๊ก: ทำบทละครดัดแปลงจากเรื่องสั้น + งานกลุ่มทั้งเซค เขียนบทละครทีวีจาก ref ที่ให้ คนละตอน
-พาร์ทครูสาว: ทำละครอะไรก็ได้ จะดัดแปลงจากหนังสือหรือคิดเรื่องใหม่ได้หมด แล้วจับกลุ่ม ทำพล็อตทั้งเรื่องกับ treatment 16 ตอน + งาน final เขียนบทละคร 1 ชั่วโมงเต็มตอน
การเก็บคะแนน
-พาร์ทครูปิ๊ก 50
-พาร์ทครูสาว 50: ส่วนร่วมในคลาส 10 + treatment 16 ตอน 10 + บท final 30
ก่อนอื่นเลยต้องขอบคุณครูปิ๊ก ครูสาว และพี่ ๆ ในคลาสครับที่ขยับเวลาเรียนจากบ่ายโมง เป็น 12.30 เราเลยได้เรียนวิชานี้ในเทอมนี้แบบไม่ซ้อนกับเฟรนซ์ลิท
นี่คือวิชาด้านบทตัวที่สามของเรา (และคิดว่าอาจพักไว้เท่านี้ก่อน หนักจนหลังหักแล้ว) ถือว่าอัพเกรดจาก Playwriting 1 หลายขุม ด้วยความอยากเป็นนักเขียนบทละครทีวี/ซีรีส์มันมา (ผมบ้าเกี่ยวกับโลกทีวีตั้งแต่ดู 24 ข้ามวันข้ามคืนตอนเด็ก ๆ) บวกกับถ้าไม่เรียนปีนี้ ปี 4 คงไม่ได้เรียนชัวร์ ๆ (วิชานี้เปิดแค่เทอมหนึ่ง) เลยกลายเป็นว่าคิดถูก ที่เจอของหนักกันตั้งแต่เนิ่น ๆ
มันเป็นวิชาฝึกให้เราทำใจไว้ล่วงหน้าคร่าว ๆ ว่า วงการนักเขียนบทในโลกแห่งความเป็นจริงต้องเจออะไรบ้าง แม้ละครทีวีจะอนุญาตให้เราเขียนอะไรก็ได้ตามใจนึก เรื่อง transition ระหว่างฉากหรือพื้นที่เวทีไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปเหมือนละครเวที แต่กรอบที่จำกัดเอาไว้อยู่ คือ ธุรกิจ, เงิน, ความเป็นไปได้, ความแมส, นักแสดงที่จะมาเล่น, โลฯ ถ่ายทำ, ฯลฯ ยิ่งทุกวันนี้คอนเทนต์มีมหาศาล บทก็ต้องเด่นพอที่นายทุนจะสนใจ และมั่นใจว่าจะมีคนดูด้วย ฉะนั้น ที่เราคิดไว้ว่าจะได้ปล่อยเต็มหลังจากที่อัดอั้นตอนเขียนบท 1 ที่ติดนู่นนี่ ก็ยังมีข้อจำกัดตรงนี้ให้เรารู้จัก down to earth ขึ้นมาหน่อย (แต่เรื่องที่เราอยากเขียนจริง ๆ ก็ไม่ได้อาร์ตนะ 5555555)
ส่วนเรื่องอาจารย์ เราคิดว่าพาร์ทครูปิ๊กค่อนข้างเปิดกว้างในแนวทางการเขียนบทพอสมควร ไม่ว่ามันจะแมสหรือแปลกไปจากจริตคนไทยขนาดไหนก็ตาม (แต่ตอนโดนครูรื้อบทนี่ก็จุกเหมือนกัน ก็น้อมรับโดยดุษฏีเพราะเขาก็ชื้ให้เห็นแบบเราตาสว่างว่ามันบกพร่องยังไง) ส่วนพาร์ทครูสาว เหมือนครูติดสไตล์ละครไทยอยู่พอสมควร [แต่ไม่ใช่สายน้ำเน่าเอะอะตบจูบนะฮะ] ฉะนั้นพอต้องคิดละครเสนอครูสาวตอนครึ่งเทอมหลัง เขาก็ (ดูคาดหวังให้) ละครมันต้องแมส ๆ ‘ทุกคนใช้หูดูได้’ อะไรประมาณนี้ [+ ส่วนตัวแล้ว เรายังติดภาพครูสาวตอนสอบ Macbeth ใน play ana ที่พีคมาก ๆ ด้วยเอง เลยรู้สึกว่าใน writ tv มันไม่ได้พีคเหมือนอย่างตอนนั้น]
ใด ๆ ก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันของครูทั้งสองคือ การจัดความคิดที่เป็นระเบียบมาก ๆ และสมาธิขั้นสุดในการฟังเด็ก อย่างเรานี่แปบเดียวก็ยุกยิก ๆ อยู่ไม่สุข ต้องลุกไปห้องน้ำทุกครึ่งชม. ให้หัวโล่งแล้ว (ซึ่งทำให้ writ tv เป็นวิชาเดียวที่เรียนออนไลน์ล้วนแล้วเราโอเคสุด ไม่งั้นเรียนในห้องฉันอั้นฉี่ตายแน่ ๆ) ยังไม่นับงานอื่น ๆ ที่ครูเขาต้องจัดการอีก และอีกอย่างนึง เราได้เรียนวิชานี้กับพี่ ๆ เอกละครและโท ก็ได้เห็นความถึกและความทรหดของพี่หลายคนที่งานเยอะ เลิกโต้รุ่ง แถมยังต่อด้วยเขียนบททีวีอีก เป็นเรานี่ตายชัวร์ ยอมใจจริง ๆ
.
writ tv จึงเป็นวิชาที่ทำให้เราคิดถึงและรู้ถึงความเป็นจริงในโลกการเขียนบททีวี เพื่อธุรกิจและความอยู่รอดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง และเอาเข้าจริง ด้วยความที่มันไม่ได้ idéal อย่างที่เรานึกไว้ วิชานี้จึงเป็นการเตือนสติเราได้ดีเลยว่า ถ้าเลือกเดินสายนี้แล้ว จะรับไหวรึเปล่า
และคำตอบคือ ไหว
[แต่ก็มีคำถามงอกมาเพิ่มคือ แล้วจะเข้าวงการได้ยังไงวะ…]
หน่วยกิตชีวิตเพิ่มเติม
นอกจากเรื่องเรียนที่อุดมไปด้วยการบ้านงานเขียนแล้ว เทอมนี้ เรายังได้โอกาสจากบริษัทที่ฝึกงานให้เป็นฟรีแลนซ์ประจำ ซึ่งต้องขอบคุณพี่ ๆ ที่ไว้ใจและเชื่อในตัวผมให้เป็นนักเขียน (เกือบจะ) เต็มตัวมาในที่นี้ด้วยครับ
.
'เรียนสนุกกว่าทำงานเป็นไหน ๆ' สำหรับเราในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมานั้น วลีนี้ดูจะเป็นจริงส่วนหนึ่ง มันอาจเป็นเพราะเราได้ทำงานเขียนที่ถนัด ได้ทำงานแปลทั้งไทยทั้งอิ้งที่พอไปได้ดี (แม้ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ) ได้เรียนรู้โลกอีกใบหนึ่งผ่านสิ่งที่เราเขียนหรือแปลเอง ได้เติบโตขึ้นและมีความรับผิดชอบขึ้น ฉะนั้น การทำงานในส่วนนี้ก็สนุกไม่แพ้การเรียนเลย อีกทั้งพี่บก. ก็ยืดหยุ่นเรื่องงานให้เราตลอด ค่อย ๆ สอนงานเรา (แม้บางครั้งเราจะแปลผิดไปไกลก็ตาม) และเขาเป็นนักแปล/นักเขียนแปลที่เทพมาก ๆ เทอมนี้ เราเหมือนได้ลงทะเบียนวิชาชีวิตนอกรั้วคณะไปในตัว
.
อย่างไรก็ดี มันก็ต้องแลกมาด้วยเวลาว่าง/ทวนหนังสือที่ลดลงฮวบฮาบ ความอดทนในการทำงานคนเดียวเยอะขึ้นพร้อม ๆ กับความห่างเหินกับคนรอบข้าง ซึ่งเราก็พยายามบาลานซ์เท่าที่ทำได้ (เพราะมันชินกับการทำอะไรฉายเดี่ยวไปแล้ว) แต่ที่สำคัญคือ ได้รู้ซึ้ง (อีกรอบ) เลยว่าการทำงานมันเหนื่อยกว่าเรียนเป็นไหน ๆ และพอถึงเวลาพัก มันก็หมดแรงที่จะให้เราไปเรียนอะไรอื่นแบบชีวิตในรั้วมหา'ลัย และที่สำคัญที่สุด เราอยากเป็นนักเขียนที่สร้างปรากฏการณ์เป็นหลักอย่างที่ใฝ่ฝันมานาน มากกว่าเป็นฝ่ายที่ติดตามและรายงานปรากฏการณ์ทีหลัง (voilà ถึงได้ริหาญเรียนเขียนบททีวีตั้งแต่เทอมนี้) ไม่ใช่ว่าเราจะทิ้งหรือไม่เห็นค่าสิ่งที่เรากำลังทำและทำมานานไปเลยนะครับ แต่พอชีวิตที่ยังเป็นนิสิตมันยังอนุญาตให้เราลองเป็นอะไรหลาย ๆ อย่างได้ แล้วทำไมจะไม่ใช้สิทธินั้นเดี๋ยวนี้กันล่ะ
.
ตอนนี้ ถ้าอยากเรียนอะไร ไม่ว่ามันจะยากหัวแตกขนาดไหนก็ลุยเลยครับทุกคน เพราะพอจบแล้ว ชีวิตมันไม่อนุญาตให้คุณเรียนเป็นบ้าเป็นหลังพร้อมกับมีเพื่อน ๆ มาร่วมหัวเราะร้องไห้ด้วยกันอีกต่อไป และตอนนี้ จงเต็มที่กับการลองผิดถูกและเรียนรู้เพื่อค้นหาตัวเองในช่วงที่ยังทำได้ฮะ ส่วนเทอมหน้า เราก็จะกลับมาเรียนเต็มสตรีมเหมือนเดิม เพราะโอกาสที่จะได้เรียนอย่างจริงจังและเปี่ยมแพสชัน มันเหลือแค่อีกปีครึ่งแล้ว พร้อมกันนี้ก็จะคลำ ๆ ทางเพื่อไปสู่ฝันของตัวเองเหมือนกัน
ขอขอบคุณทุกคนที่อ่านรีวิวรีบ่นของเราจนถึงตรงนี้ ถ้าชอบหรืออยากสนับสนุน ก็กดไลค์ให้บทความนี้ หรือแชร์เรื่องนี้ให้เพื่อนพี่น้องของคุณได้อ่านกันก็ยินดีครับ ขอให้ทุกคนเรียนเต็มที่ เล่นให้สนุก พักผ่อนเพียงพอ ไม่ปวดหลัง และมีสิ่งที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้รออยู่ครับ
แล้วพบกันใหม่ปลายเทอมหน้า
ภาพปก การรวมตัวกันของนิสิตอักษรฯ ปี 3 รุ่น 86 โดยมิได้นัดหมาย ใต้โถงมหาจักรฯ ช่วงไฟนอล