top of page

ปิดฉาก - รีวิววิชาอักษร จุฬาฯ ปี 4 เทอม 2



[หมายเหตุ: โพสต์ต้นฉบับ https://dash.minimore.com/b/frncU/8 - 07/05/2022]


ตลกดีเหมือนกันที่เกือบสี่ปีที่ผ่านมา ชีวิตมหา’ลัยของตัวเองจะดำเนินไปอย่างผาดโผน มีทั้งเรื่องราวที่ทั้งน่าจดจำ และน่าจำไว้เฉย ๆ แต่ “ไม่ต้องพู๊ดดด” แล้ววันหนึ่ง (วันที่เขียนนี่แหละ) ทุกอย่างก็จบลงเพียงกดหยุดอัดวิดีโอพรีเซนต์ และส่งงานผ่านเมลแค่ไม่กี่คลิก ง่าย ๆ อย่างนั้น… กระนั้นก็ดี เทอมสุดท้ายนี้ก็เปี่ยมชีวิตชีวาขึ้นมากโข เพราะได้ออกไปคณะบ้าง ได้ร่วม​ (หรืออย่างน้อยก็เห็นข่าวคราว) กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเพื่อนพี่น้องตั้งใจเตรียมการกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน (และจำต้องเรียนอย่างเต็มใจ) 


ต่อไปนี้คือรีวิววิชาอักษรฯ ครั้งสุดท้ายในชีวิตป.ตรีของเรา แม้ครั้งนี้จะมีแต่วิชาเอกฝรั่งเศสล้วน ๆ​ (ซึ่งตัด A ที่ 80% อิงเกณฑ์เหมือนเคย ดี!) แต่ส่วนถัดไปจะเขียนสั้น ๆ ถึงวิชาที่เราชอบที่สุดในรั้วจุฬาฯ ซึ่งมีทั้งวิชาจากในและนอกอักษรฯ ครับ เช่นเคย ขอเตือนไว้ก่อนว่า เนื้อหาการเรียนการสอน รวมถึงวันเวลาต่าง ๆ อาจะเปลี่ยนไปในแต่ละเทอมหรือปีการศึกษา ลองนำรหัสวิชาไปเช็คที่ Reg Chula กันก่อนนะ


Alors, on y va.



2231475 Selected Study in French Literature (ทุกวันอังคาร 9:00-12:00 น.)

เรียนอะไรบ้าง

- ทฤษฎีการอ่านและการวิเคราะห์วรรณกรรม/วรรณคดีฝรั่งเศส

- เรื่องสั้นและนวนิยายขนาดสั้นฝรั่งเศสที่เขียนช่วงศตวรรษที่ 20 ได้แก่ Le dernier amour du prince Genghi ควบ La veuve Aphrodissia, L’aire du Muguet, Tous les matins du monde และ Chien de printemps


การเก็บคะแนน

- contrôle continu 3 ครั้ง ครั้งละ 20 คะแนน (take home 2 + สอบในชั้นเรียนออนไลน์ 1), exposé เกี่ยวเนื่องกับรายงาน 20 คะแนน, rapport final 20 คะแนน


นี่น่าจะเป็นวิชาที่บ้าดีเดือดที่สุดวิชานึงของเอกฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ หน้ายิ้มมือปาดน้ำตาเบา ๆ ไม่ใช่เพราะว่าอาจารย์ดุหรือเรียนกันไม่รู้เรื่องนะฮะ แต่ต้องอ่านหนังสือกันตาแตกทั้งครูทั้งศิษย์ แถมอ่านไปยังต้องคำนวณเวลา ค.ศ. หรืออายุของตัวละครไป จนงงเป็นพัก ๆ ว่านี่เราเรียนวิชาวรรณกรรมหรือเลขกันแน่นะ และเกิดอาการหลอนตามมีมนี้:




ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นวิชาที่สนุกทีเดียวเลยแหละ เราเห็นได้ถึงความตั้งใจของอ.วรุณีที่ “ปล่องของ” เต็มที่ เหมือนไม่ได้สอนวิชานี้มานานมาก อธิบายภาษาและความหมายในเรื่องนั้น ๆ ไม่พอ ยังต้องเสริมเรื่องบริบท (contexte) ที่เด็กอาจจะไม่รู้เข้าไปด้วย เรียกว่าสอนละเอียดซะจนเกรงใจ (แม้ช่วงครึ่งหลังจะสอนเกินเวลาบ่อย ๆ เพราะไม่ทันจริง ๆ แต่ก็โกรธไม่ลง) อีกอย่างเกี่ยวกับอาจารย์คือ เขาจะปักแนวคำตอบไว้แล้วประมาณนึงเวลาที่เราทำพวกงานเก็บคะแนนหลังเรียน (contrôle continu) ยังไงก็ตาม ใช่ว่าจะเสนอการวิเคราะห์อะไรใหม่ ๆ ไม่ได้เลย แค่ต้องหาหลักฐานจากใน texte ให้ได้ และเขียนโน้มน้าวอาจารย์ให้เป็น… ส่วนเนื้อหาทั้งห้าเรื่องก็มีทั้งสนุกและชวนหาวผสม ๆ กัน แต่ถือว่า แต่ละเรื่องที่คุมตีมได้ค่อนข้างดี (อันนี้ก็ต้อง remercier อาจารย์ที่ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่เนียน ๆ) มีความหลากหลาย และสำนวนภาษาไม่ได้ยากหลุดโลกแบบงานเขียนสมัยเก่า ๆ ถึงอย่างนั้นแล้ว นี่ก็เป็นวิชาที่ร้องขอพลังกายใจ เวลา(ว่าง) และความสนใจในวรรณกรรมจากผู้เรียนอย่างมหาศาล เลยขอสรุปไว้ว่า หากใครชอบอ่าน ชอบงานวรรณกรรมฝรั่งเศส หรืออยาก​ ”ลองเชิง” ดูว่าจะเรียนด้านนี้ไหวไหม (ถ้าคิดว่าจะเรียนต่อด้านนี้ป.โท) วิชานี้จะตอบโจทย์คุณแน่นอน (แต่ถ้าลองจนเชิงหัก ก็ถอนนะครับ อาจารย์เขาไม่ว่า 55555) 



2231372 French-Thai Translation I (ทุกวันอังคาร 13:00-16:00 น.)

เรียนอะไรบ้าง

- ทฤษฎีการแปลภาษาฝรั่งเศสเป็นไทย เครื่องมือในการแปล แหล่งอ้างอิงสืบค้น ปัญหาในการแปล ฯลฯ

- ทำและเฉลยแบบฝึกหัดร่วมกันในห้อง 


การเก็บคะแนน

- การเก็บคะแนนตลอดภาคการศึกษา (แบบฝึกหัด การบ้าน และงานทดสอบเก็บคะแนน) 100 คะแนน


ถ้าเช้าวันอังคารคือความบ้าคลั่งแล้ว ช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้นกลับเป็นทะเลสงบ ๆ สบาย ๆ โดยเฉพาะช่วงต้น ๆ เทอมที่ฟังอาจารย์เลกเชอร์ซะเป็นส่วนใหญ่ มีทำแบบฝึกหัดในห้องเรื่อย ๆ แต่ถึง texte ที่ให้มาจะ “ดูไม่ยาก” และตอนเรียนก็พอเข้าใจ แต่ไหงคะแนนเก็บแบบฝึกหัดแต่ละรอบมันไม่ได้ดีเหมือนที่คิดไว้นะ… ส่วนบทความที่ใช้สอบปลายก็ไม่ได้ยากมาก (เกี่ยวกับเรื่องเกษตรยุคใหม่ในนอร์มองดี) มีให้ชวนงงเล่น ๆ บ้าง แต่พอเปิดดิกได้อะไรได้ตามประสาการสอบออนไลน์ ก็ไม่ใช่เรื่องกดดันอะไร… พอได้มาเรียนวิชานี้ ก็พอจะเข้าใจเหตุผลของอาจารย์วรุณีว่า ทำไมถึงเก็บวิชาแปลมาสอนปีสี่ตอนเทอมปลาย เพราะบางที การ(เรียนการ)แปลก็ต้องใช้ประสบการณ์และเวลาจริง ๆ (autrement dit คือต้องไปโดนทุบจากวิชา compo กับ rapport ก่อน ถึงจะมาชิล ๆ ได้หน่อยกับวิชานี้) แต่สิ่งที่เสียดายอย่างนึงคือ สาขาวิชาฯ น่าจะเปิดวิชาแปลไทย-ฝรศ. อีกขานึงด้วย ติดที่ว่าไม่มีคนสอนนี่สิ เฮ้อ… Quel dommage



2231376 French for Journalism II (ทุกวันพุธ 13:00-16:00 น.)

เรียนอะไรบ้างวะ เอ่อ… อ๋อ…

- การฝึกเขียนบทความขนาดสั้นประเภทต่าง ๆ (opinion, reportage, argument) เพื่อลงในแพลตฟอร์มออนไลน์นิตยสาร L’Amateur เป็นเนือง ๆ


การเก็บคะแนน

- การเข้าคลาสและมีส่วนร่วม 30 คะแนน, คุณภาพของเนื้อหาบทความ (เช่น ข้อมูลประกอบและการสัมภาษณ์) 50 คะแนน, คุณภาพของภาษาและไวยากรณ์ในบทความ 70 คะแนน,  ทักษะและการใช้เทคนิคการเขียนเชิงวิชาชีพ 50 คะแนน 

วิชาฝรศ.เพื่อการหนังสือพิมพ์ตัวนี้ เป็นภาคต่อของการไหลไปตามน้ำทางการศึกษาที่แท้ เข้าไปแต่ละวีค ก็ยังเดาไม่ค่อยจะออกว่าจะต้องเจอกับอะไรแบบ exactement ก็งงว่าอ. Philippe เขาไม่ทำแพลนทำเพลินตาม esprit français สักหน่อยเหรอ… แต่สถานการณ์เทอมนี้ดีกว่าเทอมที่แล้วมาก เพราะได้เรียนในห้องบ่อย (เลยคุยกันพอรู้เรื่องขึ้น) บวกกับได้ออกไปทำงานนอกสนาม (แบบเป็นทางการครั้งนึง และแบบจู่ ๆ ก็ออกไปแบบปุบปับอีกครั้ง) เลยตัดปัญหากับ Zoom ไปในตัว (แต่สอนแบบไฮบริดนะ ซึ่งคนเปิด Zoom ก็คือทีเอจำแลงกางเกงเขียวคนดีคนเดิมคนนี้นี่เอง เหอะ ๆ) ความสนุกอีกอย่างคือ ได้เป็นนิสิตรุ่นเปิดแอคเคาท์โซเชียลมีเดียของ L’Amateur ให้ชีวิตได้มีคอนเทนต์ภ.ฝรศ. บ้าง ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ฝากติดตามเพจ L’Amateur ทาง Facebook และ Instagram ตามลิงค์ด้านล่างกันด้วยครับ ช่วงปิดเทอมนี้ก็อาจมีบทความใหม่ ๆ ลงบ้างก่อนที่จะให้รุ่นถัดไปเทคโอเวอร์ ส่วน plainte อื่น ๆ เราจัดไปใน CUCAS แล้ว ก็หวังว่าทางสาขาและผู้สอนจะได้อ่านเพื่อพัฒนาวิชานี้ต่อไปครับ…




2231377 French Drama (ทุกวันศุกร์ 14:30-17:30 น.)

เรียนอะไรบ้าง

- บทละครฝรั่งเศสฉบับคัดย่อจำนวนแปดเรื่อง ตั้งแต่ยุคกลางยาวมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ Le Jeu d’Adam, Le Véritable Saint Genest, Phèdre, Tartuffe, Le Mariage de Figaro, Lorenzaccio, Antigone, En Attendant Godot และ Dissident, il va sans dire

- พิเศษคาบสุดท้าย: การบรรยายเบื้องหลัง พ่อ - Le Père โดยอ.วณิชชา ผู้แปลบทจากฝรั่งเศสเป็นไทย


การเก็บคะแนน

- Compo 7 ครั้ง ครั้งละ 10 คะแนน (เลือก 6 ครั้งแรกที่ดีที่สุด = 60 คะแนน), exposé individuel ถึงบทละครฝรั่งเศสศตวรรษที่ 21 10 คะแนน, exposé en groupe ถึงการจำลอง mise-en-scène บทละครที่เรียนมา 30 คะแนน


ถ้า Edgar Wright มี The Cornetto Trilogy อ.พิริยะดิศก็คงมี “The Figaro Trilogy” ของตัวเองยังไหงยังงั้น เพราะวิชา théâtre นี่ก็เป็นเหมือน “ภาคจบ” ของวิชาบังคับเลือกสายวัฒนธรรมฝรั่งเศสที่อาจารย์สอน เช่นเคย เรียนกับอ.พ่อพรยด. ก็ต้องมีเรื่องจิตวิเคราะห์และ Freud เป็นธรรมดา… ส่วนแนวคิด/คอนเซปต์ของละครแต่ละยุคก็ทำความเข้าใจได้ไม่ยากมากนัก ให้อธิบายก็คือ พัฒนาการของละครฝรศ.ก็ล้อ ๆ กันกับศิลปะ ปรัชญา และสภาพสังคมในแต่ละยุค (ดั่งที่นิสิตเอกนี้เคยร่ำเรียนกันมาจากวิชาก่อน ๆ แต่จำได้เยอะไหมก็ แหะ) วิชานี้ก็เลยตอกย้ำให้เราเห็นอีกครั้งว่า องคาพยพของวัฒนธรรมฝรั่งเศสนั้นมีความเป็นมาและมีลักษณะเป็นยังไง ที่ยากก็คือ ภาษาของตัวบทละครเก่า ๆ บางทีก็มาเป็น vers หรือไม่ก็ monologue ยาว ๆ (แถมชวนสัปหงก) ส่วนละครสมัยใหม่ขึ้นมาหน่อย อ่านง่ายขึ้น แต่คอนเซปต์ก็ซับซ้อนตามไปด้วย (ดู En Attendant Godot เป็นตัวอย่างได้) ยังไงก็ดี รู้สึกว่าเทอมนี้เกณฑ์การให้คะแนนของอาจารย์จะโหดน้อยกว่าวิชาก่อน ๆ ถึงจะต้องแลกมากับภาระงานที่ซอยยิบย่อยขึ้นก็ตาม… แม้จะต้องเรียนออนไลน์ไปครึ่งเทอม และไม่ได้แสดงละครเป็นงานไฟนอลอย่างที่รุ่นพี่เคยทำ แต่ยังดีที่ได้เรียนวิชานี้ที่คณะบ่อยครั้งจนถึงคาบสุดท้าย และบังเอิญดีเหมือนกันที่อ.พรยด. เป็นอาจารย์เอกฝรศ. คนแรกและคนสุดท้ายที่เราได้เจอในช่วงป.ตรี


Recap วิชาในดวงใจ

1) 2204182 West Civilization [วิชาบังคับอักษรฯ ปี 1 เทอม 2] 

- ถ้าถามว่า “เรียนอักษรศาสตร์ เพื่อพยายามทำความเข้าใจมนุษย์” มันเป็นยังไง จะเรียนไปทำไม วิชานี้ก็เป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมที่สุดคำตอบนึง อ่านรีวิวที่นี่

.

2) ไตรภาควิชาเขียนบทภาคละครฯ [เก็บเป็นเสรีเอง]:

- อยากขอบคุณครูบัว ครูสาว และครูปิ๊ก อีกครั้ง ที่ให้เด็กเอกฝรศ. คนนี้เข้าไปเรียนวิชาเด็กละครจ๋า ๆ ตามที่ฝันไว้ตั้งแต่เข้าคณะนี้มา ยังคิดถึงการเขียนบทเสมอ และหวังว่าหลังเรียนจบไป ผมจะได้มีโอกาสใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาจริง ๆ ไม่ว่าจะต้องเขียนในภาษาไหนก็ตามครับ (คลิกอ่านรีวิวได้จากแต่ละวิชา)

.

3) Trilogía de español [เก็บเป็น Gen Lang + อยากเรียนเอง]

- นี่ก็เป็นอีกไตรภาคที่หาเรื่องเรียนเอง 55555 แม้ช่วงนี้สกิลการพูดจะกลับมาเหลวเป๋วเหมือนเดิม แต่ espero hablar español más en el futuro อันใกล้นี้ จะว่าไปแล้ว ก็โชคดีเหมือนกันที่ ความรู้ภาษาฝรั่งเศสช่วยเรียนสเปนได้มาก ๆ ตอนนั้น (คลิกอ่านรีวิวได้จากแต่ละวิชา)

.

4) 2202201 Academic English Oral Skills [วิชาภาคอิ้ง]

- เราอาจจะมีอคติที่ดีกับอ. Shane ด้วยแหละตอนนั้น แต่ ACAD คือวิชาโทอิ้งที่สปาร์คจอย และได้ฝึกทักษะเยอะสุดแล้ว อ่านรีวิวที่นี่

5) Trilogie de la culture française par M. Piriyadit [วิชาบังคับเลือกเอกฝรั่งเศส]

- อย่างที่บอกไปด้านบนฮะว่า ทั้งสามวิชานี้ของอ.พ่อนั้น ทำให้เราเห็นองคาพยพของวัฒนธรรมฝรั่งเศส ฉบับคร่าวจริง ๆ (คลิกอ่านรีวิวได้จากแต่ละวิชา)

.

6) Duo littéraire par Mlle. Warunee 

2231370 French Literature [บังคับเอกฝรั่งเศส] + 475 SEL STUD FR LIT [บังคับเลือก]

- สองวิชานี้ของอ.วรุณี ก็สนุกมาก ๆ ได้รู้จักงานวรรณกรรมฝรั่งเศสที่หลากหลาย และเหมือนได้ฝึกวิทยายุทธแบบเบาะ ๆ ก่อนเจอศึกหนักของจริง (คลิกอ่านรีวิวได้จากแต่ละวิชา)

.

7) 2402357 GLOBAL POL FILM [อันนี้ก็เก็บเสรีอีกแล้ว]

- เราเชื่อว่า ไม่ว่าอ.กรพินธุ์ หรืออ.สรวิศจะเป็นคนสอน นิสิตที่ชอบทั้ง “ซอฟท์พาวเวอร์” สายภาพยนตร์ และประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ น่าจะชอบวิชานี้ได้ง่าย ๆ แม้ว่าภาระงานและเนื้อหาจะเยอะมากก็ตาม อ่านรีวิวที่นี่


ปิดฉาก

ก็อยากจะขอบคุณผู้อ่านผู้น่ารักทุกคนครับที่ติดตามอ่านรีวิว (แกมระบายความคิดความรู้สึก) ของผมตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่จากเว็บ Dek-D จนย้ายมาสู่ minimore [และย้ายมาสู่บล็อกตัวเองอีกรอบ]


ขอบคุณทุกคนในช่วงชีวิตอักษรฯ ทั้งคนที่ยังอยู่เคียงข้างกันจนถึงทุกวันนี้ คนที่เข้ามาและผ่านไป และคนที่เราเข้าหาและเดินออกมาเอง - ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ - และขอโทษผู้คนเหล่านี้ด้วย หากเราทำตัวหัวควยและไร้ความเห็นอกเห็นใจใส่ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม


ขอให้ทุกคนมีความสุขกับเส้นทางที่ตัวเองเลือก หรือหากสถานการณ์สักอย่างบีบบังคับให้ต้องเลือกทางเดินชีวิตสักทาง ก็ขอให้ผ่านพ้นไปด้วยดีเช่นกัน


และขอให้พวกเราทั้งหลาย (รวมถึงผม) - กลุ่มคนที่เขาเรียกว่า “อนาคตของประเทศ” - เติบโตอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับความบ้าอำนาจ ความหัวแข็ง หรือติดอยู่ในความคิดคับแคบแบบที่หลายคนต้องประสบอย่างน่าเศร้า เมื่อพวกเขาเหล่านั้นก้าวสู่วัย “ผู้ใหญ่”


หวังว่าจะได้พบกันอีก

.

Au revoir, et bonne chance à toutes et à tous.


ปล. ขอเก็บเพลง เรื่องราว (Ours) ให้ตัวเองในอนาคตไว้ ณ ตรงนี้สักนิด เพราะช่วงนี้รู้สึกไปตามเพลงนี้เอามาก ๆ



Cover picture: บรรยากาศหลัง Blink by Phil Porter ละครเวทีอักษรฯ จบลง - 6 เมษายน 2565

Written by porrorchor 

Instagram & Letterboxd: porrorchor 

bottom of page