[หมายเหตุ: โพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน และ ๖ กรกฏาคม ๒๕๖๓ ทาง dash.minimore.com/b/WWFr4/2 และ dash.minimore.com/b/WWFr4/3 / ปัจจุบัน สำนักงานจัดการ ทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เจ้าของพื้นที่ ได้รื้อถอนอาคารโรงภาพยนตร์สกาลาเพื่อให้เอกชนพัฒนาเป็นศูนย์การค้า]
“ไม่คิดเลยว่าจะมีคนรักโรงหนังเราเยอะขนาดนี้" - คุณป้าอุ๊, ๒๕๖๓
๑ I ย้อนไปเมื่อสมัยเดี่ยวไมโครโฟน ๗ ของอุดมออกแผ่นเมื่อสิบกว่าปีก่อน...
ผม– ในวัยไม่ถึงสิบขวบ - มองปกดีวีดีของเดี่ยวไมโครโฟนปกนั้นด้วยความสงสัยว่า “นี่มันโชว์ธรรมะรึเปล่าวะทำไมไอ้คนนี้ใส่ชุดขาว ๆ อยู่กลางต้นไม้พื้นหญ้าหราเลย เฮ้ย แต่คงมีตลกด้วยแหละมั้งเพราะเขาตีลังกากลับหัวนิ...” แล้วแม่ก็มาเปิดดีวีดีดูเดี่ยว ๗ ถึงได้รู้ว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า Stand-up Comedy ต่างหากเล่าแต่สิ่งที่ทำให้ผมสงสัยมากกว่านั้นก็คือขนาดของสถานที่จัดงานที่ทำไมถึงเป็นโรงหนังที่มีที่นั่งเยอะขนาดนั้น และทำไมถึงดูเก่า ๆ ตกแต่งแบบโบราณๆ ภายหลังผมจึงรู้ว่านี่คือสิ่งที่เขาเรียกว่า โรงหนัง Stand Alone แบบที่เคยเห็น (ผ่าน ๆ) จากภาพเก่า ๆของศาลาเฉลิมไทยในอดีตกาล
จนผ่านมาอีกหลายปีครั้นที่ผมกลายเป็นคอหนังเต็มตัว ผมถึงได้รู้ว่า ตอนที่ดูเดี่ยว 7 ในแผ่นนั้น เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับโรงหนังที่ชื่อว่าสกาลา
หน้าปกเดี่ยว ๗ ที่ตอนเด็ก ๆ ผมนึกว่าเป็นโชว์วิปัสนาธรรมะปนตลก
๒ I ถึงแม้จะเห็นสกาลามานับตั้งแต่ตอนนั้น...
ก็ต้องผ่านมาเป็นเวลาอีกหลายปีกว่าที่ผมจะมีโอกาสได้ไปเยือนโรงหนังแห่งนี้ครั้งแรกที่ผมได้เยือนสกาลาคือ ช่วงต้นปี ๒๕๖๑ ตอนที่มาซื้อตั๋วรอบพิเศษของ Lady Bird (ค.ศ. ๒๐๑๗) ด้วยความตื่นเต้นเพราะกลัวว่าตั๋วจะหมดไปก่อนเลยไม่ได้คำนึงว่า “นี่เรากำลังอยู่ในโรงหนังสไตล์อาร์ตเดโก (Art Décor) ที่คลาสสิกที่สุดในประเทศไทยนะเว้ย!” พอถึงวันฉายหนังจริงจึงเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปดูหนังในสกาลา เมื่อเข้าสู่โรงหนังที่มีขนาดใหญ่มากมีที่นั่งทอดยาวเรียงอยู่เป็นจำนวนเฉียดพัน อีกทั้งยังมีพนักงานใส่สูทสีเหลืองสดใสรอต้อนรับผู้ชมก็ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า สถานที่แห่งนี้มีมนตร์ขลังและความพิเศษเฉพาะตัวจริง ๆ บวกกับเนื้อหาและความดีงามของเลดี้เบิร์ดที่ตรงกับเด็กมอปลายใกล้สอบ T-CAS อย่างผม ณ ตอนนั้น ทำให้เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งในโรงหนังที่ผมจำได้ไม่ลืมจนถึงทุกวันนี้
ภาพถ่ายครั้นไปดู Lady Bird ที่สกาลา
แม้จะสอบเข้าติดมหาวิทยาลัยที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสกาลาก็ตาม ทว่าผมก็ไม่มีโอกาสได้ดูหนัง ณ ที่แห่งนี้อีก ได้เพียงแต่เดินผ่านไปมาอยู่บ่อย ๆ จนช่วงปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ ได้มีซุ้มกิจกรรมของ Stranger Things ซีซั่น ๓ ไปจัด จึงเป็นการเยือนสกาลาครั้งที่สามของผม บรรยากาศที่ชวนถวิลหาอดีตของสกาลานั้นช่างเข้ากับยุคและฉากหลังของซีรีส์เหนือธรรมชาติจาก Netflix เรื่องนี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า หากนำ Stranger Things มาฉายที่นี่นั้นจะยอดเยี่ยมได้ถึงเพียงไหนกัน
ความสงสัย (อีกแล้ว) ของผมได้รับการตอบรับในรูปของ “ผู้โชคดีที่ได้ชมพรีเมียร์ Stranger Things ซีซั่น ๓ ตอนแรก ณ โรงภาพยนตร์สกาลา” จากกิจกรรมที่ผมร่วมเล่นในเพจเฟสบุ๊กของเน็ตฟลิกซ์ นี่จึงเป็นครั้งที่สองที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูหนัง (ซีรีส์สิ – ในกรณีนี้) ในสกาลา แม้ว่าคนจะเยอะจนวุ่นวายเล็กน้อย แต่ก็ตอบความสงสัยของผมได้เช่นกันว่า การนำซีรีส์เรื่องนี้มาจัดรอบปฐมทัศน์ในไทยที่นี่นั้นยอดเยี่ยมจริง ๆ ยิ่งตอนที่เสียงซินธิไซเซอร์จาก theme song ของซีรีส์ดังก้องไปทั่วห้องนั้นทำให้ผมขนลุกไปหมด [นอกจากนี้การมาชมสเตรนเจอร์ ธิงส์ ที่สกาลานี้ ก็ยังตอบคำถามหัวใจผมได้เช่นกัน แม้คำตอบนั้นจะไม่ได้อยู่ยั้งยืนยงสักเท่าไหร่นัก แต่ก็ถือว่าเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งในโรงหนังที่ผมยังระลึกได้เสมอ]
ภาพตอนไปดู Stranger Things ซีซั่น ๓ รอบปฐมทัศน์
เมื่อมานับๆ ดูแล้ว ผมเดินผ่านสกาลามาเป็นร้อย ๆ ครั้ง
เดินเข้าไปในพื้นที่ของโรงฯจริง ๆ เพียงสี่ครั้ง และได้ดูหนังในตัวโรงหนังแค่สองครั้ง
ทว่าช่วงเวลาเท่านั้นกลับมีความทรงจำ- ที่ได้ฝากเอาไว้ในเสาปูน ขั้นบันได โคมไฟระย้า ไปจนถึงที่นั่งในโรงฯ -ร่วมกับอีกเรื่องราวนับหมื่นแสนของผู้ชมที่เวียนแวะเข้ามาในโรงภาพยนตร์แห่งนี้
จึงเป็นเรื่องที่น่าใจหายที่พวกเราใกล้ที่จะไม่สามารถฝากความทรงจำใดๆ ไว้ในโรงหนังแห่งนี้อีกต่อไป
๓ I ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓
วันนั้นผมนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศที่ฝึกงาน...
ก็นั่งแปลข่าวเพื่อลงเว็บไซต์บ้างลงเล่นนิตยสารบ้างตามที่ได้รับมอบหมายแต่ก็ต้องใช้สมองและทักษะการเรียบเรียงข้อมูล - ที่ได้ร่ำเรียนมา- อย่างมาก ผมจึงขออู้งานแล้วเปิดเฟสบุ๊กของตัวเองเป็นการพักสมองสักครู่แต่ข่าวที่เปิดเจอนั้นก็ทำให้ผมเครียดยิ่งกว่าเรื่องงานไปเลย
“ถึงคราวอำลา ‘สกาลา’
โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่โดดเด่นคู่สยามสแควร์กว่า 50 ปี ยุติการให้บริการแล้ว”
ที่จริงโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพกซ์ต้องดิ้นรนอย่างหนักในช่วงหนึ่งทศวรรษหลังที่ผ่านมาอย่างที่แฟนคลับทราบๆ กัน อย่างโรงภาพยนตร์สยาม (๒๕๐๙-๕๓) ที่ตอนนี้กลายเป็นสยามสแควร์วันและโรงภาพยนตร์ลิโด (๒๕๑๑-๖๑) ที่ตอนนี้กลายเป็นลิโด้คอนเน็ก เหลือไว้เพียงสกาลาน้องเล็กให้เป็น “สแตนด์อโลน” โดดเดี่ยวในย่านสยามสแควร์เพียงลำพังแม้จะได้รับผลกระทบจากโรงหนังมัลติเพล็กซ์และสตรีมมิ่งเซอร์วิสมาเป็นเวลานาน แต่เพราะสถานการณ์ของโคโรนาไวรัสต่างหากที่ทำให้การปิดตัวครั้งนี้มาไวขึ้นไปอีกจนน่าใจหาย จากเดิมที่สัญญาเช่าสกาลาจะสิ้นสุดช่วงปลายปี ๒๕๖๓
แต่ใจหายไม่ได้นานผมก็ต้องปิดหน้าเฟสบุ๊กไว้ก่อนและเปิด Microsoft Word เพื่อพิมพ์งานต่อ จนลืมนึกไปเลยว่าสกาลาจะมีโปรแกรมหนังครั้งสุดท้ายเพื่อเป็นการอำลาหรือไม่
จนมาถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน เพจเฟสบุ๊กของหอภาพยนตร์ฯ ได้ประกาศโปรแกรมที่ชื่อว่า La Scala ที่จะจัดฉายภาพยนตร์เป็นครั้งสุดท้ายของสกาลาในวันที่ ๔-๕ กรกฎาคมด้วยกัน ๔ เรื่อง ได้แก่ Blow-Up (ค.ศ.๑๙๖๖), สารคดีควบ The Scala (๒๕๕๙) กับ นิรันดร์ราตรี (๒๕๖๐) และ Cinema Paradiso (ค.ศ. ๑๙๘๘) ซึ่งใจจริงผมอยากจะดูทุกเรื่องเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยเวลาชีวิตที่ไม่เอื้อนวยให้ดูได้ทั้งหมดผมจึงขอรวบยอดการอำลาโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไว้กับรอบสุดท้ายของ Cinema Paradiso ที่ได้ยินกิตติศัพท์ความดีงามของหนังมาเนิ่นนาน
และช่างประจวบเหมาะกับการปิดม่าน ราชาโรงภาพยนตร์ ของเมืองไทยยิ่งนัก
๔ I ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ๙.๒๕ นาฬิกา
๓๕ นาทีก่อนเริ่มการจำหน่ายตั๋วหนังในโปรแกรม La Scala วันแรก
ผมเดินมาถึงหน้าโรงภาพยนตร์สกาลาด้วยความแปลกใจเล็กน้อยที่คิวต่อแถวซื้อตั๋วนั้นไม่ได้ยาวมากเหมือนอย่างที่คิดไว้ ที่จริงผมยืนปิดท้ายแถวตรงหัวกระไดพอดี แต่ก็ด้านบนก็มีคนยืนรอนั่งรออยู่พอสมควรจากนั้นไม่นาน ก็มีคนยืนรอต่อจากผมยาวไปเรื่อย ๆ ผ่านหน้าภัตตาคารสกาลาและคงจะเลยไกลไปอีกยาวเป็นร้อยเมตร (จินตนาการไว้เฉย ๆ น่ะครับ ไม่อย่างนั้นผมก็หลุดแถวพอดี)
บรรยากาศการขายตั๋วของโปรแกรม La Scala วันแรก
ระหว่างที่คนเข้ามาก็มีคุณป้าคนหนึ่งคอยต้อนรับลูกค้าอย่างกระตือรือร้นและเป็นมิตรอีกทั้งสั่งพนักงานของโรงฯ ให้เอาพัดลมมาเปิดคลายร้อน เมื่อแถวเริ่มขยับจนผมได้มาต่อท้ายแถวของ Cinema Paradiso อันคดเคี้ยวที่สุด ก็ประจวบเหมาะกับที่คุณป้าท่านั้นมายืนพักใกล้ๆ พอดี ผมจึงทักทายไป จนทราบว่าคุณป้านั้นชื่อ คุณป้าอุ๊ ผมได้พูดคุยกับเขาสั้นๆ
"คุณป้ายังดูแอคทีฟกระฉับกระเฉงอยู่เลยนะครับ" คือประโยคแรกที่ผมพูดหลังการทักทาย
"โหขอบคุณค่ะ ป้าก็ออกกำลังกายทุกวันเลยเนี่ยแหละ” คุณป้าอุ๊ตอบอย่างอารมณ์ดี
“ขอถามนิดนึงได้ไหมครับว่าคุณป้าเป็นผู้จัดการของที่นี่เหรอครับ เพราะเห็นแบบคุณป้าช่วยจัดคิวแถว ๆ นี้”
“อ๋อป้าเป็นนักบัญชีของโรงฯ น่ะค่ะ ทำมาตั้ง 40 ปีแล้ว บ้านอยู่แถวบางบัวทอง ก็ไป ๆ มาๆ ทุกวัน เดี๋ยวนี้สบายเพราะมีรถไฟฟ้าแล้ว บางวันลูกก็ขับรถมาส่ง” คุณป้าตอบเสร็จก็เดินเร็ว ๆ ไปดูแถวคนที่มารอ แล้วก็เดินกลับมา ทิ้งจังหวะให้ผมได้คิดสักครู่
โห...40 ปีกับที่ทำงานที่เดิม (และอาจจะที่เดียว) นี่ เป็นเราเราก็คงโหวง ๆ ใจเหมือนกันแหละนะถ้าที่ทำงานต้องปิดตัวไป
"ขอถามคุณป้าต่อได้ไหมครับว่า พอจบอาทิตย์หน้าแล้วตึกนี่จะเป็นยังไงต่อบ้างครับ” นี่เป็นสิ่งที่ผม – และคงอีกหลายคน - เป็นห่วงมากที่สุดยิ่งมีข่าวระหว่างเจ้าของที่กับศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองด้วยแล้วยิ่งน่ากังวลเข้าไปใหญ่
“อันนี้เป็นเรื่องที่ทางผู้ใหญ่เขาคุยกันเราเองก็ไม่รู้ว่าเจ้าของที่จะเก็บไว้หรือเปล่า เพราะเขาก็เอาตึกคืนไป” ถ้าหากเจ้าของที่เขาไม่เก็บไว้คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายแย่และไม่เห็นแก่สถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ -ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นปี ๒๕๕๕ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ – แห่งนี้เป็นแน่แท้ “ส่วนภัตตาคารก็ปิดไปพร้อมกับโรงหนังเลยไม่ได้ย้ายที่”
“โหถ้าทุบทิ้งก็คงน่าเสียดายแย่เลยนะครับ ผมเองก็ผ่านสกาลาอยู่บ่อย ๆ” ผมถอนหายใจแล้วก็เปลี่ยนประเด็น “แล้วคนที่มารอคิวรอบแรก ๆนี่เขามากี่โมงกันเหรอครับ”
“ป้ามาตอนแปดโมงก็มีคนมานั่งรออยู่ข้างบนแล้วจ้ะ”แล้วคุณป้าอุ๊ก็เงียบไปสักครู่
“ตอนดูคอมเมนต์นี่ มีคนมาแชร์มาเมนต์เยอะไปหมด”แล้วคุณป้าก็มองไปยังคนที่ต่อแถวอยู่ “ไม่คิดเลยว่าจะมีคนรักโรงหนังเราเยอะขนาดนี้”
“มีคนรักสกาลาเยอะจริง ๆครับคุณป้า” ผมตอบกลับไปพร้อมมองบรรยากาศรอบ ๆ
และผมเองก็รักที่นี่เหมือนกัน
รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นปี ๒๕๕๕ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
“นี่น้องเป็นนักข่าวรึเปล่าคะ”คุณป้าอุ๊เป็นฝ่ายถามกลับบ้าง
“เปล่าฮะ ๆ พอดีผมอยากเอาไปเขียนเจอร์นัลบันทึกเก็บไว้ครับ”ผมยิ้มและแอบเขินเบา ๆ (ผมยังไม่ถึงขั้นนั้นฮะคุณป้า)
หลังจากนั้น เพื่อไม่เป็นการรบกวนเวลาการทำงานของเขา ผมจึงขอบคุณและสวัสดีคุณป้าอุ๊ไป “เจอกันก็อย่าลืมทักทายกันนะลูก” ผมรับคำ คุณป้าอุ๊ก็ยิ้มให้รับสวัสดี แล้วจึงไปดูความเรียบร้อยของสถานที่ต่อ
คุณป้าอุ๊ผู้น่ารักที่เดินดูแลอยู่
ระหว่างที่รอคิวผมก็ยืนมองผู้คนบ้าง ถ่ายรูปบ้าง ชมแผงงานปูนปั้นที่ประดับอยู่ด้านบน (ก็เพิ่งสังเกตอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกด้วยว่า บนแผงนั้นมีทั้งศิลปะไทย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และบาหลีผสมผสานกันอยู่) ดูซิทคอมในเน็ตฟลิกซ์บ้าง เมื่อยบ้าง (ที่จริงก็ไม่ใช่แค่บ้าง เมื่อยจริง ๆ เลยแหละครับ) แล้วแถวก็คดเคี้ยวมากจนทำให้ผมอดกังวลไม่ได้ว่า จะได้ตั๋วรอบสุดท้ายของวันที่ ๕ กรกฎาคมหรือเปล่า ยิ่งมีคุณป้าพนักงานอีกคนหนึ่งมาเดินนับจำนวนคนที่ยืนรอคิวด้วยแล้วทำให้ผมยิ่งหวั่นเข้าไปใหญ่ ซิกคอมที่ดูอยู่ก็ไม่อาจทำให้ผมหยุดคิดมากได้ แต่สุดท้าย หลังจากที่ยืนรอมาเป็นเวลาสองชั่วโมงครึ่ง ผมก็ได้ตั๋วของ Cinema Paradiso มาครอบครองสักที
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่พลาดโอกาสในการฉาย ณ โรงภาพยนตร์แห่งนี้
ผมยืนถ่ายรูปโรงหนังอีกสักครู่หนึ่งแล้วเดินมองผู้คนที่ยังรอซื้อตั๋วอยู่ อันที่จริง ที่ได้จินตนาการไปก็ดูจะไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริงไปสักเท่าไหร่นัก เพราะแถวของลูกค้านั้นยาวเลยภัตตาคารสกาลาไปจนลับตา และยังมีคนทยอยมาเพิ่มอีกเรื่อย ๆ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ว่า มีคนรักสกาลาเยอะจริง ๆ
ช่วงสองทุ่มกว่า ๆ ของคืนวันเดียวกันนั้นเองทางเพจหอภาพยนตร์ฯ ได้ประกาศว่าตั๋วของ Cinema Paradiso เต็มหมดแล้วทั้งสองรอบฉาย ส่วนตั๋วของหนังเรื่องอื่น ๆ ก็เหลือน้อยลงไปทุกที ตัวผมเองก็ดีใจที่จะได้มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ในสรวงสวรรค์ของคนรักหนังนี้อีกครั้ง
อีกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เครื่องฉายจะส่องแสงอีกครั้งไปยังผืนผ้าสีเงินขนาดใหญ่ในโรงภาพยนตร์ ๙๐๔ ที่นั่งก่อนที่จะไม่มีหนังเรื่องใดได้มีโอกาสโลดแล่นในโรงภาพยนตร์แห่งนี้อีก - อย่างน้อยๆ ก็ภายใต้การบริหารของเอเพกซ์
จนกว่าจะพบกัน...
แล้วพบกันวันที่ ๕ นี้นะ...สกาลา
...............................................
“มันอยู่ได้เพราะใจรัก” – ลุงบูน, ๒๕๖๓
๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓
วันสุดท้ายที่โรงภาพยนตร์สกาลาเปิดทำการภายใต้การบริหารงานของเอเพกซ์
ผมมาถึงโรงภาพยนตร์สกาลา ๔๕ นาทีก่อนที่ Cinema Paradiso (ค.ศ. ๑๙๘๘) รอบ ๑๘.๐๐ น. จะฉาย จึงทำให้ผมพอมีเวลาถ่ายรูปบรรยากาศของโรงฯเป็นครั้งสุดท้ายผ่านกล้องฟิล์มที่พี่และแฟนของเขาให้ผมได้ลองใช้เป็นครั้งแรก (ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย) วันนี้มีคนมาเยือนสกาลาเยอะเป็นพิเศษทั้งประชาชนทั่วไปที่มาดูและไม่ได้ดูหนัง สำนักข่าวต่าง ๆ และบุคคลที่มีชื่อเสียง เดินไปทางใดก็ต้องใช้วิชาหลบซ้ายหลบขวา เพื่อเลี่ยงไม่ให้ตัวเองไปบดบังกล้องของคนอื่นเขา
ผมพบกับคุณป้าอุ๊ที่กำลังยืนคุยกับคุณป้าเหมียว- ผู้เป็นพนักงานอีกคนหนึ่งของสกาลา แม้คุณป้าอุ๊จะสับสนว่าผมคือนักข่าว (อีกครั้ง) ที่มาขอสัมภาษณ์ แต่ผมเข้าใจว่าป้าอุ๊คงได้พูดคุยกับคนเยอะมากในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงอาจจำหน้าจำคนสลับไปบ้างเป็นธรรมดา ผมและคุณป้าทั้งสองก็ได้พูดคุยกันสั้น ๆ ท่ามกลางผู้คนมากมาย
“ดีใจมากที่จะได้หยุดสองวัน” ป้าอุ๊เอ่ยอย่างดีใจเมื่อผมถามว่าเขาจะยังคงต้องมาทำงานที่สกาลาอีกหรือเปล่า “พอเปิดมาวันพุธก็มาจัดการงานต่าง ๆ ให้เสร็จ ก็ยังมาทำงานอยู่ค่ะ” “แต่หลังจากนั้นคงเหงาแย่เลยใช่ไหมครับ” ผมถาม คุณป้าทั้งสองพยักหน้ารับพลางยิ้ม “ป้ายังไม่รู้เลยจะไปทำอะไร แต่ก็ถือว่าได้พักผ่อนแล้วกันค่ะ” ป้าเหมียวกล่าว แล้วมองไปยังบรยากาศรอบ ๆ
จากนั้นก็มีการเรียกให้เข้าโรงหนังพอดี “เดี๋ยวหลังหนังฉายจบ ก็จะมีผู้บริหารขึ้นกล่าวขอบคุณเป็นครั้งสุดท้าย แต่พวกป้าไม่ได้ขึ้นไปนะคะ เป็นกองเชียร์อยู่ข้างเวทีเฉย ๆ” ป้าอุ๊พูดเกริ่นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ผมฟัง ผมขอบคุณคุณป้าทั้งสอง ถ่ายรูปพวกเขาเก็บไว้ในกล้องฟิล์ม อวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง แล้วผมก็เดินเข้ามาในโรงหนัง มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ถือตั๋วแต่ต้องการจะเข้าไปเก็บภาพบรรยากาศ แต่ทางโรงฯ นั้นยังไม่อนุญาตจนกว่าจะฉายหนังเสร็จ พอเข้าไป คนส่วนมากต่างก็หยิบกล้องหรือมือถือมาถ่ายรูปเก็บบรรยากาศในโรงครั้งสุดท้าย บ้างก็ถ่ายรูปกับคุณลุงพนักงานในชุดสูทเหลืองอันเป็นเอกลักษณ์ บ้างก็ไปถ่ายบนเวทีด้านหน้า ด้วยเวลาที่ยังพอมีอยู่ ผมจึงไปยังเวที แล้วเดินเล่น ดูผู้คนจากบนนั้น
พอลงจากเวทีเพื่อจะเดินไปยัง P๑๓ ซึ่งเป็นที่นั่งโซนเก้าอี้เว้นเก้าอี้ ก็ได้ขอถ่ายภาพคุณลุงพนักงานคนหนึ่งกับเขาบ้าง นอกจากคุณลุงจะถืออุปกรณ์คู่ใจอย่างกระบอกไฟฉายแล้ว ยังถือดอกกุหลาบสีขาวแสนสวยไว้เสียด้วย ผมเลยกะจะถามถึงที่มาที่ไปของดอกไม้ดอกนี้เสียหน่อย แต่คุยไปคุยมา ก็ได้ล่วงรู้ถึงไปถึงประวัติของคุณลุงเลย
คุณลุงนั้นชื่อบูน (ไม่แน่ใจว่าสะกดอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าผิดต้องขอโทษด้วยครับ) นามสกุล พ่อไชยราช ที่รู้ละเอียดขนาดนี้เพราะลุงบูนเขาให้ดูนามสกุลจากบัตรประชาชนตอนที่ผมได้ยินไม่ค่อยชัด ผมบอก ไม่ต้องก็ได้นะครับลุง แต่ไม่ทันเสียแล้ว – อายุลุงบูนของเราปีนี้ก็เข้าสู่หลัก ๖๕ แล้ว แต่ยังคงแข็งแรงกระฉับกระเฉง ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่มีแรงตก ลุงบูนเล่าว่าเคยทำงานที่โรงหนังประตูน้ำอินทรามาก่อนก่อนที่จะย้ายมาประจำอยู่ที่ลิโด แต่เมื่อสองปีก่อนลิโดปิดตัวลง จึงย้ายมาทำงานที่สกาลาแทน อายุงานรวมเกือบ ๔๐ ปี
“โห ลุงบูนอยู่นานขนาดนี้เลยเหรอครับ” “ก็อยู่มาเรื่อย ๆ เนี่ยแหละ เงินเดือนก็ไม่ได้มากมาย แต่เราก็อยู่ได้ มันอยู่ได้เพราะใจรัก ถ้าเป็นเด็กสมัยนี้ เห็นอย่างนี้เขาไม่เอาหรอก แล้วงานเหนื่อยด้วย” จากนั้นคุณลุงก็เล่าถึงเรื่องชีวิตของพนักงานในสกาลา ที่มีเรื่องมีราวด้วยกันเองบ้างโยกย้ายไปบ้าง เรื่องสวัสดิภาพสวัสดิการบ้าง แต่ทุกสิ่งและทุกคนก็ผ่านความเป็นไปต่าง ๆ ได้เรื่อยมา จนถึงวันสุดท้าย...วันนี้ “ลุงว่าโรงหนังอยู่มานานขนาดนี้ก็ถือว่าเก่งนะ เขาต้องแบกรับค่าเช่าเยอะ เดือน ๆ นึงก็หลายตังค์แหละ เพราะที่ดินแถวนี้ก็มีมูลค่ายิ่งมีทีวี มีเน็ต คนไม่ค่อยมา ก็อยู่กันลำบากขึ้น” ลุงบูนคุยกับเราไปก็มีคนมาขอถ่ายรูปไป โดยที่พลังงานของลุงบูนไม่มีอ่อนลงเลย
“แล้วหลังจากวันนี้ไปลุงบูนยังต้องมาอีกไหมครับ”
“มา ๆ ตอนลิโดปิดลุงก็ไปช่วยเขาย้ายของรื้อของ คราวนี้ก็ต้องมาเหมือนกัน” ลุงบูนเว้นหายใจ “แต่เราก็ไม่อยากให้เขาทุบนะโรงหนังอย่างนี้มันเหลือที่เดียวในกรุงเทพฯ แล้ว จะมีที่ไหนอีก”
แล้วบทสนทนาระหว่างผมกับลุงบูนก็ต้องหยุดลงเมื่อหนังจะเริ่มฉาย ผมถ่ายรูปลุงบูนไว้ในกล้องฟิล์ม ไฟในโรงค่อย ๆ ดับลง เครื่องฉายยิงหนังโฆษณาขึ้นบนจอผมขอบคุณลุงบูนและเดินไปนั่งที่ของตัวเอง แม้จะมีหน้ากากของผมและ face shield ของลุงบูนมาเป็นอุปสรรคในการสนทนา แต่ก็เป็นการสนทนาที่สนุกจากพลังงานที่เต็มเปี่ยมของลุงบูน ซึ่งสะท้อนจากคติ “มันอยู่ได้เพราะใจรัก” ที่เป็นสิ่งที่ผมจำได้ขึ้นใจที่สุด
และภาพยนตร์ที่จะฉายต่อจากนี้ ก็ตอกย้ำความหมายของประโยคดังกล่าวอย่างตรงแผง อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงสถานะของสกาลา ที่กำลังจะเป็น “สรวงสรรค์” ที่จะอยู่ในความทรงจำของคนรักหนังในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้
Cinema Paradiso - ผลงานคลาสสิกของจูเซปเป ทอร์นาทอเร - เป็นเรื่องราวมิตรภาพต่างวัยของซัลวาโตเร หรือที่เรียกกันว่า โตโต้ และ อัลเฟรโด คนฉายหนังในโรงภาพยนตร์ Cinema Paradiso ณ จัตุรัสกลางเมือง Giancaldo หนังพาเราไปติดตามชีวิตของผู้คน และความเป็นไปของพาราดิโซตั้งแต่ยุครุ่งเรือง ช่วงเปลี่ยนผ่าน จนถึงจุดสิ้นสุด
หนังฉายภาพของพาราดิโซ ที่พร้อมจะเกิดความสนุกสนานแกมอลม่านเป็นทุกทีไปเมื่อมีหนังเข้าฉาย ผู้ชมทุกคนต่างมีอารมณ์ร่วมหัวเราะร้องไห้ไปพร้อมกัน แม้จะเกิดสิ่งแปลก ๆ (หากวัดกันตามมาตรฐานของโรงหนังในปัจจุบัน) ในโรงฯ บ้างก็ตาม อย่างคนช่วยตัวเอง คนเมา การทะเลาะวิวาท ฯลฯ ทั้งนี้ ก็ยังมีอีกหลายสิ่งจากหนังที่ยังคงอยู่จวบจนปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกองเซนเซอร์ (ในหนังคือบาทหลวง) จอมสปอยหนังประโยคต่อประโยค หรือคนที่มาพบรักกันในโรงหนัง ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นความทรงจำและประสบการณ์ร่วมที่ถูกจารึกไว้ จนทำให้พาราดิโซเป็นดั่งสรวงสวรรค์ทางความบันเทิงของคนในเมือง (ยังไม่นับว่าโรงหนังณ ตอนนั้นยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีกด้วย เช่น การกระจายข่าวสารบ้านเมือง)
แต่ความทรงจำต่าง ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดบุคลากรของโรงหนังไป ทั้งเจ้าของที่ต้องติดต่อบริหารโรงหนังให้ราบรื่น พนักงานเดินตั๋วที่คอยดูแลระหว่างรอบหนัง คนส่งฟิล์มที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาและความหงุดหงิดของคนดู และ พนักงานฉายหนังที่ต้องชมหนังเรื่องเดิมซ้ำไปมาเป็นร้อยรอบและต้องเสี่ยงอันตรายจากฟิล์มหนังที่ติดไฟง่าย งานของทุกคนสำคัญและแทบจะไม่มีวันได้หยุดพัก ดังนั้น พวกเขานั้นจะทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ได้และจะไม่มีความอดทนในงานเลยหากขาดคำว่า “ใจรัก” ไป - เหมือนอย่างที่ลุงบูนได้บอกกับผมไว้
ภาพความสัมพันธ์และมิตรภาพของโตโต้และอัลเฟรโดนั้น เปรียบได้กับผู้ชมประจำที่ได้เห็นหน้าและรู้จักกับคนในสกาลามานาน จนคุ้นเคยกันเสมือนญาติมิตร แม้ว่าความผูกพันธ์ที่ผมมีต่อสกาลาจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่จากการได้คุยกับป้าอุ๊และลุงบูนเพียงสั้นๆ ก็พอจะบอกผมได้ว่าที่นี่ก็มีไมตรีจิตเช่นนั้นเหมือนกัน นี่จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะทำให้โรงหนังแห่งหนึ่งเป็น พาราดิโซ ได้อย่างแท้จริง
การเล่าเรื่องของหนังดำเนินไปอย่างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ค่อย ๆ ทำให้ผู้ชมกว่า ๔๐๐ ชีวิต - ที่มารวมตัวกันโดยได้นัดหมาย - ได้หัวเราะและซาบซึ้งไปกับบทสรรเสริญโรงหนังบทนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน ความรู้สึกสุขเศร้าได้รับการขับเน้นอย่างทรงพลังผ่านดนตรีประกอบของเอนนิโอ มอร์ริโคเน (ที่เพิ่งเสียชีวิตไป - ขอให้ไปสู่สุขติครับ) นี่จึงเป็นประสบการณ์ที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกและสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้
เมื่อคำว่า “FINE (จบ)” ของหนังปรากฏขึ้น ห้วงเวลาสุดท้ายของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ก็มาถึง คุณนันทาและคุณกัมพล ผู้บริหารของโรงภาพยนตร์สกาลาได้ขึ้นมากล่าวอำลาและขอบคุณผู้ชม พร้อมกับประกาศว่า สกาลาจะย้ายไปยังสวนนงนุชในรูปแบบโรงมหรสพการแสดงไทยขนาดกว่า ๒,๐๐๐ ที่นั่ง น้ำเสียงของทั้งสองท่านนั้นแฝงความความเศร้าและความเสียดาย (ที่ไม่มีใครอาจเทียบได้) เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับโรงหนังมากที่สุด ทุกคนจึงปรบมือเป็นกำลังใจดังไปทั่วห้องจากนั้น คุณนันทาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ ประมาณว่า ความทรงจำทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาด “คนฉายหนัง” ไป สายตาทุกคู่จึงต่างหันไปมองห้องฉายหนัง แล้วปรบมือ โบกแขน เพื่อขอบคุณและอำลาคนที่อยู่เบื้องหลังช่องเล็ก ๆ เหนือโรงหนังช่องนั้น ที่ได้ส่องแสงสู่จอผืนใหญ่สีเงิน และสร้างความทรงจำที่ยิ่งใหญ่แก่ผู้ชม สถานที่และตัวของผู้ที่อยู่เบื้องหลังเอง มากว่า ๕๑ ปี
“โรงหนังปิดไปแล้วเขาจะอยู่กันยังไงนะ” ผมได้ยินพี่คนหนึ่งพูดขึ้นมา พลางมองไปยังห้องฉายหนังนั้น
ระหว่างที่เดินออกมา ผู้บริหารและพนักงานได้ยืนต่อแถวอำลาผู้ชมเป็นครั้งสุดท้าย ผมได้จับมือกับคุณลุงบูนผู้เปี่ยมรอยยิ้มที่เพิ่งพบกัน ได้กล่าวบอกลาคุณป้าอุ๊ผู้ใจดี และได้อำลาพี่ ๆ คุณลุงคุณป้าของสกาลาทุกคนที่มายืนรอ ถือเป็นบทสรุปแห่งโปรแกรม LA SCALA และตำนานราชาโรงหนังของเมืองไทยโดยสมบูรณ์
แม้วันนี้สกาลาภายใต้การบริหารของเพเซกซ์จะปิดทำการไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าความทรงจำต่าง ๆ และ “ใจรัก” ที่ทุกคนมีต่อโรงภาพยนตร์สกาลาจะหายไป เพียงแต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง กาลเวลาผ่านไป อีกทั้งมีเหตุผลทางธุรกิจเข้ามา การปิดกิจการครั้งนี้ก็ย่อมเข้ามาอย่างไม่อาจเลี่ยงได้
สิ่งที่พวกเราพอจะทำได้คือการใช้ “ใจรัก” ที่มีต่อสกาลา มาใช้เพื่อติดตามและผลักดันให้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปะแห่งนี้อยู่คู่สยามสแควร์ ให้สาธารณชนได้มาศึกษาและใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป ไม่เช่นนั้น พาราดิโซเมืองไทย อาจสูญหายและถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นอาคารพาณิชย์อีกหลังหนึ่งของใครเขา
จนกว่าจะเห็นโคมไฟกลับมาสว่างไสว
จนกว่าจะเห็นตัวอักษรต่างๆ ได้ขึ้นป้ายหน้าโรงฯ
จนกว่าจะเห็นภาพยนตร์โลดแล่นบนจออีกครั้ง
จนกว่าจะพบกันใหม่
สกาลา
อ้างอิง
- จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๕๘ กรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓